Unemployment Rate คืออะไร?
Unemployment Rate คือ อัตราการว่างงาน เป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่บอกจำนวนแรงงาน (Labor Force) ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีงานทำแต่ยังคงหางานทำอยู่ในเดือนที่ผ่านมา
ตัวเลข Unemployment Rate จะคำนวณมาจากการนำจำนวนผู้ว่างงาน (Unemployed) หารด้วยกำลังแรงงาน (Labor) และคูณ 100 ออกมาเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่บอกว่ามีผู้ที่ต้องการทำงานแต่ไม่มีงานทำอยู่เท่าไหร่จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ
โดยผู้ว่างงาน (Unemployed) คือ ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ปัจจุบันไม่มีงานทำ แต่ยังคงหางานหรือต้องการทำงานต่อไป ในขณะที่ผู้มีงานทำ (Employed) คือ ประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และได้รับผลตอบแทนจากการทำงานในรูปของเงิน (หรือสิ่งตอบแทนอื่น)
เมื่อนำกลุ่มผู้มีงานทำ (Employed) มารวมกับกลุ่มผู้ว่างงาน (Unemployed) จะได้เป็นกำลังแรงงาน (Labor Force) ซึ่งก็คือประชากรทั้งหมดของประเทศที่สามารถทำงานได้ (และต้องการทำงาน) ไม่ว่าปัจจุบันจะมีงานทำหรือไม่มีงานทำก็ตาม กล่าวคือ Labor Force = Unemployed + Employed
ทั้งนี้ กำลังแรงงาน (Labor Force) จะยกเว้นกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 15 แต่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้: กำลังศึกษาในสถานศึกษา, อยู่ระหว่างพัก, เป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้าน, อายุมากเกินไป จึงไม่ทำงานแล้ว, ป่วยหรือพิการ
Unemployment Rate บอกอะไร?
Unemployment Rate คือ ตัวเลขที่ใช้บอกอัตราการว่างงานตามชื่อ เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สะท้อนการจ้างงานภายในประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในช่วงเวลานั้นว่าเป็นอย่างไร
ตัวเลข Unemployment Rate ที่ต่ำ (หรือต่ำกว่าคาดการณ์) บ่งชี้ถึงการเติบโตของการจ้างงานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานสูงจากการขยายตัวของธุรกิจที่ทำให้ต้องการแรงงานมากขึ้น
ในทางกลับกัน Unemployment Rate ที่สูง (หรือสูงกว่าคาดการณ์) บ่งชี้ถึงการเติบโตของการจ้างงานที่อ่อนแอหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้น จากการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงซึ่งทำให้ธุรกิจไม่ต้องการแรงงานเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ หรือปลดพนักงานออกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเมื่อรายได้ของธุรกิจลดลง
ทั้งนี้สิ่งที่ควรระวังคือการที่ในบางกรณีที่ตัวเลข Unemployment Rate ที่ต่ำอาจเป็นปัจจัยลบได้เช่นกัน เนื่องจาก Unemployment Rate อย่างต่อเนื่องนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง (และอาจรวมถึงเติบโตอย่างร้อนแรงด้วย) ซึ่งนำไปสู่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
เนื่องจากนายจ้างต้องแข่งขันกันเพื่อรักษากลุ่มแรงงานที่มีอย่างจำกัดเอาไว้ด้วยการเสนอเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงขึ้น สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการโดยรวมในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ Unemployment Rate ที่ต่ำยังอาจปกปิดปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน อย่างเช่น ปัญหาแรงงานในประเทศลดลงไม่ทันความต้องการแรงงาน การจ้างงานที่ต่ำเกินไป หรือความไม่ลงตัวระหว่างทักษะของแรงงานกับทักษะที่ต้องการของงานที่มี เป็นต้น
Unemployment Rate มาจากไหน?
ตัวเลข Unemployment Rate ของแต่ละประเทศจะจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานเกี่ยวกับสถิติ (หรือกระทรวงแรงงานในบางประเทศ) ตัวอย่างเช่น
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ไทย) ประกาศทุกวันที่
- U.S. Bureau of Labor Statistics (สหรัฐอเมริกา) ประกาศทุกวันศุกร์แรกของเดือน
- Office for National Statistics (สหราชอาณาจักร) ประกาศทุกวันอังคารในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน