Value Added คืออะไร?
Value Added คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ ด้วยการเพิ่มลักษณะพิเศษหรือจุดเด่นบางอย่างให้กับสินค้า เพื่อทำให้สินค้าหรือบริการสามารถทำได้มากกว่าเดิมหรือมีจุดเด่นที่แตกต่างไปจากเดิมเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด
เป้าหมายของ การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ Value Added มีเป้าหมายในการทำให้สามารถขายผลิตภัณฑ์หรือบริการดังกล่าวได้แพงขึ้นกว่าการขายในแบบที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงทำให้สินค้าหรือบริการโดดเด่นเมื่อเทียบกับสินค้าแบบเดียวกันในตลาด
ตัวอย่าง การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้แก่
- การแปรรูปปลาทูน่าไปเป็นปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งทูน่ากระป๋องก็สามารถต่อยอดจับกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย
- การทำให้บัตร ATM เป็นบัตร Debit ทำให้สามารถใช้แทน Visa หรือ Master Card
- บริการห่อของขวัญ
จากตัวอย่างจะเห็นว่า Value Added หรือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ถ้าพูดให้ง่าย ๆ ก็จะคล้ายกับการต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้นหรือทำได้มากขึ้น เพื่อสร้างกำไรที่มากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากราคาที่แพงขึ้นหรือมีลูกค้าสนใจมากขึ้น
Value Added หรือ มูลค่าเพิ่ม สำคัญอย่างไร?
ประโยชน์หลักของการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือ Value Add คือ การทำให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นหรือทำให้โดดเด่นจากสินค้าแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามด้านนี้เป็นประโยชน์ของการสร้างมูลค่าเพิ่มที่คนทั่วไปมองเห็นเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม Value Added ยังมีประโยชน์ในอีกกรณีคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อสร้างกำไรที่มากขึ้นจากการสร้างมูลค่าเพิ่ม (ซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดยังคงถูกใช้ไปเท่าเดิม)
ตัวอย่างเช่น บริษัท Greedy C-Food เป็นบริษัทขายอาหารทะเลแช่แข็ง สมมติว่า ขายกุ้งแช่แข็ง 100,000 กิโลกรัม บริษัท A ทำเงินได้ 20,000,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 200 บาท แต่ถ้าหากว่าบริษัท Greedy C-Food เลือกที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับอาหารทะเลด้วยวิธีอย่างเช่น
- กุ้งหักหัวแช่แข็ง
- กุ้งแกะเปลือกถอดหาง
- เตรียมกุ้งซูชิส่งให้ร้านอาหารแบบ B2B
กุ้ง 1 กิโลกรัมที่มีมูลค่า 200 บาทของบริษัท Greedy C-Food ก็จะสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้นในระดับ 2 เท่าหรือ 3 เท่าด้วยการเพิ่มกรรมวิธีบางอย่าง แทนที่บริษัท Greedy C-Food จะต้องผลิตกุ้งแช่แข็งให้มากขึ้นอีกเท่าตัวเพื่อทำยอดขายให้ได้ 2 เท่า
สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ทำอย่างไร?
วิธีสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการไม่ได้มีวิธีที่ตายตัว เนื่องจาก สินค้าและบริการแต่ละชนิดมีข้อจำกัดที่ต่างกัน ทำให้ช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มก็จะแตกต่างกันออกไป แต่เพื่อเป็น Guide Line มาดูวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการเบื้องต้นที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) คือการทำให้สินค้าเดิมมีสิ่งที่แตกต่างออกไปจากสินค้าแบบเดียวกันในตลาด
การสั่งทำตามต้องการ (Custom) แทนที่จะผลิตสินค้าเอาไว้เพื่อรอลูกค้ามาซื้อจนหมด การรอให้ลูกค้ามาสั่งทำตามที่ต้องการ (หรือด้วยเงื่อนไขที่ลูกค้าจะสามารถเลือกได้) จะทำให้ลูกค้าได้สินค้าตามต้องการที่สามารถขายได้แพงกว่าปกติอย่างมาก
การสร้าง Story หรือเรื่องราวของสินค้า ให้กับสินค้าหรือบริการว่ามีความแตกต่างหรือมีความพิเศษอย่างไรเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นทั่วไปด้วยการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning)
เพิ่มบริการเสริม เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า อย่างเช่น ลูกค้าสามารถจอดรถฟรีเมื่อมาใช้บริการ การพ่วงบริการซ่อมแซมหลังการขาย และการพ่วงบริการให้ความช่วยเหลือในการใช้สินค้า เป็นต้น
แปรรูปหรือแปลงสภาพสินค้า เป็นวิธีที่พบได้บ่อยกับสินค้าประเภทอาหาร และกุ้งในตัวอย่างตอนต้น
ทั้งนี้ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มควรเลือกวิธีที่เหมาะกับสินค้าหรือบริการ โดยต้องคำนึงถึงข้อจำกัดหรือสิ่งที่สามารถต่อยอดไปได้ในแต่ละสินค้าหรือบริการ ซึ่งวิธีการบางอย่างอาจใช้ได้กับสินค้าประเภทหนึ่งในขณะที่ไม่สามารถใช้ได้กับสินค้าอีกประเภทอย่างสิ้นเชิง