Why Why Analysis คืออะไร?
Why Why Analysis คือ เครื่องมือวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาด้วยการถามหาสาเหตุด้วยคำว่า Why หรือ ทำไม เพื่อหาว่าสาเหตุของปัญหามาจากอะไร และถามซ้ำเพื่อหาว่าทำไมสาเหตุดังกล่าวจึงเกิดขึ้นได้ และจะถามซ้ำไปเรื่อยๆ 5 ครั้งหรือจนกว่าจะพบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ทำให้อีกชื่อของ Why Why Analysis คือ 5 Why Analysis
การวิเคราะห์ Why Why Analysis หรือ 5 Why Analysis เป็นเครื่องมือที่นิยมในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่ต้องการแก้ไขในการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรด้วยแนวคิด Kaizen นอกจากนี้ Why Why Analysis ยังนิยมนำมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาหัวข้องานวิจัย
ที่มาของ Why Why Analysis คือ แนวคิดที่คิดค้นขึ้นมาโดย Sakichi Toyoda ในช่วงปี ค.ศ. 1930s ก่อนที่จะกลายมาเป็นที่นิยมในช่วงปี ค.ศ. 1970s และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เป็นส่วนหนึ่งของ Toyota Production System จนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่าง Why Why Analysis
สำหรับ Why Why Analysis ตัวอย่าง ง่าย ๆ ตัวอย่างแรก คือ ปัญหาสอบไม่ผ่านของนักศึกษาชื่อ A เราจะสามารถนำมาวิเคราะห์ Why Why Analysis ได้โดยเริ่มจากปัญหาหลัก ดังนี้
- A เป็นนักศึกษาที่มีปัญหาสอบไม่ผ่าน 4 จาก 6 วิชาในการสอบกลางภาคของปี 1 Why?
- เพราะ A ขาดเรียนทุกวิชาถึง 3 ครั้งจาก 7 ครั้งในช่วงก่อนสอบกลางภาค โดยเฉพาะช่วงที่มีเนื้อหาสำคัญ Why?
- เพราะ A ตื่นสาย ทำให้เข้าเรียนไม่ทันบ่อยๆ Why?
- เพราะ A จำเป็นต้องนอนดึก Why?
- เพราะ A รับงาน Freelance หลายงานและบางครั้งเล่นเกมจนต้องทำงานดึกเป็นประจำ
จากตัวอย่างจะเห็นว่าปัญหาสอบไม่ผ่านของ A ที่เราพบจากการวิเคราะห์ Why Why Analysis คือ การที่ A รับงาน Freelance แล้วแบ่งเวลาไม่ได้หรือใช้เวลามากเกินไปจนทำให้นอนดึก และตื่นสายจนส่งผลให้ A ขาดเรียนบ่อยๆ จนทำให้เรียนไม่รู้เรื่องและสอบไม่ผ่านในท้ายที่สุด
ตัวอย่างที่ 2 ปัญหาไลน์การผลิตมีปัญหาเรื่องปัญหาใช้เวลาในการหาชิ้นส่วนที่นานเกินไป จากตัวอย่างเมื่อวิเคราะห์ Why Why Analysis จะได้ออกมาดังนี้
- ปัญหาการผลิตล่าช้าที่เกิดขึ้นในการผลิต Why?
- การผลิตที่ล่าช้าเกิดจากการต้องแก้ข้อผิดพลาดจากการประกอบสินค้า Why?
- เพราะการประกอบมักจะมีชิ้นส่วนที่ขาดหรือเกิน Why?
- ชิ้นส่วนที่ขาดหรือเกินมาจากความเข้าใจผิดจากลักษณะที่คล้ายกัน Why?
- เพราะไม่มีการแยกชิ้นส่วนวัตถุดิบที่ชัดเจน
Why Why Analysis ตัวอย่างที่ 2 สามารถสรุปได้ว่า ปัญหาการผลิตล่าช้าที่เกิดขึ้นในการผลิตมาจากความผิดพลาดในการผลิต ซึ่งความผิดพลาดในการผลิตดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่เก็บชิ้นส่วนวัตถุดิบรวมกันไว้โดยไม่แยกอย่างชัดเจน จนทำให้พนักงานที่ทำหน้าที่ประกอบเข้าใจผิดนั่นเอง
สรุป Why Why Analysis หรือ 5 Whys
โดยสรุป Why Why Analysis คือการถามเพื่อหาปัญหาไปเรื่อยๆ เพื่อหาต้นเหตุของปัญหาไปจนกว่าจะถึงรากของปัญหา ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่า 5 คำถามก็ได้ และในแต่ละคำถามอาจจะมีมากกว่า 1 คำตอบก็ได้
จากตัวอยางแรกของ Why Why Analysis ด้านบน คำตอบข้อ 4 (สาเหตุที่ A ตื่นสาย) อาจมีมากกว่า 1 สาเหตุก็ได้ อย่างเช่นสาเหตุมาจากการที่ 1) จำเป็นต้องนอนดึก และ 2) นอนไม่หลับ แต่เมื่อมีคำตอบหรือสาเหตุมากกว่า 1 คำตอบ ก็จะต้องวิเคราะห์สาเหตุที่เพิ่มเข้ามาด้วย
ตัวอย่างด้านล่างเป็นตัวอย่างที่ต่อยอดมาจากตัวอย่างที่ 1 ของ Why Why Analysis จะเห็นว่าเมื่อเพิ่มสาเหตุของการตื่นสายเป็น 2 สาเหตุ ก็จะต้องหาสาเหตุของปัญหาที่เพิ่มเข้ามาด้วยถ้าคำตอบที่เพิ่มเข้ามายังไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับการนำผลจากการวิเคราะห์ Why Why Analysis ไปใช้ประโยชน์หลังจากได้คำตอบแล้วว่าปัญหาเกิดจากอะไร คือ การหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างเช่นในกรณีของตัวอย่างด้านบนอาจทำได้ด้วยการ ลดการเล่นเกมจนดึก การนอนให้เป็นเวลา และการรับงานแต่พอดีเท่าที่ทำไหว