ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร?
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่จะหักทันทีตอนที่จ่าย (หักทันทีที่มีรายได้ตามชื่อ) เป็นการหักภาษีล่วงหน้าจำนวนหนึ่งตามชื่อ โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย ทำให้ผู้ที่เสียภาษีไม่ต้องยื่นภาษีในตอนท้ายเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียว ซึ่งผู้ที่ต้องจ่ายภาษีอาจจะไม่มีจ่าย และเกิดปัญหาตามมาได้ภายหลัก
ในทางกลับกัน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ก็จะช่วยให้รัฐมั่นใจได้ว่าจะได้ภาษีนี้มาพัฒนาประเทศก่อนส่วนหนึ่งแน่ ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณจะได้ทำการจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องยื่นภาษีอีกในภายหลัง เพราะตามที่ได้อธิบายในตอนต้น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือการจ่ายภาษีในส่วนหนึ่งเท่านั้น
โดยผู้ที่หักภาษีไว้ จะต้องนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 เดือนถัดไป (ถ้าติดวันหยุดให้เลื่อนไป)
- ใช้แบบ ภ.ง.ด. 3 สำหรับภาษีที่หักจากบุคคลธรรมดา
- ใช้แบบ ภ.ง.ด. 53 สำหรับภาษีที่หักจากนิติบุคคล
หัก ณ ที่จ่าย อย่างไร
ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัท A มีเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท
ทุกครั้งที่บริษัท A จ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนนั้น บริษัท A ก็จะหักเงิน 5% จากเงินเดือนของพนักงาน (ในกรณีนี้คือ 1,500 บาท) เพื่อนำส่งภาษี พร้อมกับออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายให้พนักงานคนนั้น นำไปใช้ยื่นภาษีตอนท้ายปี
ทางด้านพนักงานคนดังกล่าวก็จะไม่ต้องจ่ายภาษีเต็ม ๆ ตอนท้ายปี เพราะบางส่วนจ่ายไปแล้วตอน หัก ณ ที่จ่าย นั่นเอง
นอกจากนี้ ในทางกลับกันหากพนักงานคนดังกล่าวคำนวณภาษีออกมาแล้วในปีนั้นไม่มีภาษีที่ต้องจ่าย ก็จะสามารถขอคืนภาษีจากส่วนที่จ่ายไปคืนได้ตอนสิ้นปี
เงินได้ที่ต้องภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.3) ที่กำหนดไว้ มีดังต่อไปนี้
1) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
2) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรมสถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
3) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
4) เงินได้จากการธุรกิจการพาณิชย์การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งฯ เฉพาะประเภทที่กำหนดไว้ ดังนี้
- เงินรางวัลในการประกวดแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
- เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ
- เงินได้จากการรับโฆษณา
- เงินได้จากการรับจ้างทำของ
- เงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ
- เงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
- เงินได้จากค่าขนส่ง
เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.53) ที่กำหนดไว้มีดังต่อไปนี้
1) เงินได้จากการขายสินค้าพืชผลการเกษตร (บางประเภท) ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงิน เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรหรือประโยชน์อื่นใด เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากค่าจ้างทำของ เงินได้จากการประกวด แข่งขัน ชิงโชค หรือการอื่น อันมีลักษณะทำนองเดียวกัน เงินได้จากค่าโฆษณา
2) เงินได้ตามมาตรา 40 (8) เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวในข้อ 1)
3) เงินได้จากค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เฉพาะที่จ่ายให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย
4) เงินได้ค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ
อัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเป็นข้อมูลของปี 2565 จากกรมสรรพากร โดยมีข้อมูลอ้างอิงจาก: กรมสรรพากร, คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย, กฎหมายที่เกี่ยวข้อง