Yield Curve Control คืออะไร?
Yield Curve Control คือ การควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว การทำ Yield Curve Control (YCC) ของธนาคารกลางจะเริ่มจากกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรระยะยาวที่ต้องการควบคุม จากนั้นธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวมากเท่าที่จำเป็นเพื่อกดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวจนกว่าจะลดลงเหลือตามเป้าหมายที่ต้องการ
สรุปให้ง่ายกว่านั้น Yield Curve Control หรือ YCC เป็นการที่ธนาคารกลางจะตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (หรือระยะกลาง) แล้วเข้าซื้อพันธบัตรอายุนั้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าอัตราผลตอบแทนจะลดลงถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อควบคุม Yield Curve ให้เป็นไปตามที่ต้องการ
โดยเป้าหมายของการทำ Yield Curve Control (YCC) คือการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยาวเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวของภาคธุรกิจ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับลดลงตามผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่อายุเท่า ๆ กัน
สำหรับการใช้ Yield Curve Control ครั้งแรกเกิดขึ้นโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) เมื่อ 21 กันยายน 2559 เป้าหมายคือการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้อยู่ที่ระดับ 0%
Yield Curve Control ทำอย่างไร
วิธีการทำ YCC หรือ Yield Curve Control ขั้นแรกจะเริ่มจากการที่ธนาคารกลาง (Central Bank) จะกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของพันธบัตรอายุที่ต้องการ จากนั้นธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรอายุดังกล่าวเท่าที่จำเป็นต้องซื้อ และจะซื้อไปจนกว่าจะกดอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้
ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia : RBA) ประกาศทำ YCC เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 มูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี เพื่อกดอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรอายุ 3 ปีให้อยู่ที่ 0.25% ธนาคารกลางออสเตรเลียก็จะซื้อพันธบัตรอายุ 3 ปีไปเรื่อยๆ จนกว่า Yield ของพันธบัตรดังกล่าวจะลดลงเหลือ 0.25% ตามเป้า

อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เป็นไปตามเป้าหมายและหยุดการซื้อในเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2020 โดยใช้เงินเพียง 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียเท่านั้น
ทำไมต้องทำ Yield Curve Control
เป้าหมายของ Yield Curve Control เกี่ยวกับการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุที่ต้องการเพื่อกดอัตราผลตอบแทนลงตามที่ต้องการ เมื่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเปลี่ยนไปจะส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ (รวมถึงตราสารการเงินอื่น) ที่มีอายุเท่ากันเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
อย่างในกรณีของการทำ Yield Curve Control (YCC) ที่เกิดขึ้นในอดีตกับญี่ปุ่นและออสเตรเลียมีเป้าหมายคือการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวให้ลดลงเพื่อทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลงตาม เพื่อทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวลดลงเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจลง
อีกเหตุผลหนึ่งคือการใช้นโยบายการเงินอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ลงไม่ช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวลดลงได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากการลดดอกเบี้ยมักจะส่งผลต่อดอกเบี้ยระยะสั้นและแทบจะไม่ส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว
นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญในประเด็นสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เลือกทำ YCC มาจากการที่ขณะนั้นญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ (Negative Interest Rate Policy) อยู่แล้ว ทำให้ BOJ ไม่สามารถจะลดอัตราดอกเบี้ยลงไปได้มากกว่านี้ เพราะจะทำให้รายได้ของธนาคารลดลงซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทนรับหนี้เสีย (NPL) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
YCC กับ QE ต่างกันอย่างไร
เมื่อพูดถึงการที่ธนาคารกลาง (Central Bank) เข้าซื้อพันธบัตร หลายคนอาจนึกถึงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) หรือที่รู้จักกันในชื่อมาตรการ QE อย่างไรก็ตาม Yield Curve Control กับ QE ไม่ใช่เรื่องเดียวกันและมีแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกันถึงแม้ว่าจะมีกลไกที่ใกล้เคียงกันมากก็ตาม
ในการทำ Yield Curve Control ธนาคารกลางจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลในช่วงอายุที่ระบุไปเรื่อย ๆ เพื่อกดผลตอบแทนพันธบัตรให้ลดลงตามเป้าหมาย ส่งผลให้จำนวนเงินที่ใช้ในการทำ YCC อาจมากหรือน้อยก็ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะกดดอกเบี้ยลงตามเป้าหมายได้ด้วยเงินมากเท่าไหร่
ในขณะที่มาตรการ QE จะเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามปริมาณที่ระบุไว้ไปเรื่อยๆ ภายในกรอบระยะเวลาที่ธนาคารกลางกำหนด
ส่งผลให้งบดุลของธนาคารกลางในการทำ QE จะเพิ่มขึ้นเท่าจำนวนที่ระบุว่าจะซื้อแน่นอน ในขณะที่การทำ YCC อาจใช้เงินน้อยกว่าเนื่องจากจะซื้อไปจนกว่า Yield พันธบัตรรัฐบาลจะลดลงตามเป้า
กล่าวคือ ถ้าประกาศทำ QE มูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งบดุลก็จะเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนดังกล่าว แต่การทำ YCC ธนาคารกลางอาจใช้เงินน้อยกว่าเนื่องจากอาจใช้เงินซื้อไปเพียงแค่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็อาจทำให้ Yield เป็นไปตามเป้าได้แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงปี 2559
ความเสี่ยงของ Yield Curve Control
ความเสี่ยงหลักของ Yield Curve Control ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน หากนักลงทุนไม่เชื่อมั่นและมองว่าธนาคารจะไม่สามารถควบคุมให้ดอกเบี้ยระยาวเป็นไปตามที่ประกาศได้จริงนักลงทุนก็จะเทขายพันธบัตรออกมา ทำให้ธนาคารกลาวต้องใช้เงินมากขึ้นอีกในการซื้อพันธบัตรเหล่านั้นเพื่อทำให้พันธบัตรราคาสูงขึ้นเพื่อกด Yield ลงมาตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ อีกความเสี่ยงของ YCC คือการที่ในระยาวจะทำได้ยากขึ้นเพราะปริมาณพันธบัตรที่มีให้ซื้อมีอยู่อย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ญี่ปุ่นทำ Yield Curve Control ตั้งแต่นั้นมาธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็กลายเป็นผู้ถือครองตราสารหนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อกลายเป็นผู้ซื้อถือครองมากที่สุดส่งผลให้การเข้าซื้อทำได้ยากขึ้นภายหลัง เนื่องจากปริมาณพันธบัตรที่มีให้ซื้อมีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก Federal Reserve Bank of St. Louis