หน้าแรก » ธุรกิจ » มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Hofstede’s Cultural Dimensions)

มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Hofstede’s Cultural Dimensions)

บทความโดย safesiri
มิติทางวัฒนธรรม ของ Hofstede คือ ตัวอย่าง Geert Hofstede Cultural Dimensions

มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede หรือ Geert Hofstede’s Cultural Dimensions คือ งานวิจัยที่เป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ เพื่อศึกษาว่าค่านิยมในที่ทำงานได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอย่างไร โดย Hofstede ได้แบ่งมิติทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการทำงานออกเป็น 6 มิติทางวัฒนธรรมและให้คะแนนในแต่ละมิติของแต่ละประเทศ

6 มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede ได้แก่ Power Distance (PDI) · Individualism (IDV) · Masculinity (MAS) · Uncertainty Avoidance (UAI) · Long Term Orientation (LTO) · Indulgence (IVR)

โดยทั้ง 6 มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede (Hofstede’s Cultural Dimensions) ในแต่ละมิติ มีความหมายดังนี้

  • Power Distance คือความแตกต่างทางอำนาจ
  • Uncertainty Avoidance คือการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
  • Individualism คือสังคมนั้นอยู่คนเดียวแบบปัจเจกหรืออยู่เป็นกลุ่ม
  • Masculinity คือความเป็นชายในสังคม ที่ส่งผลไปยังการให้ความสำคัญระหว่างชาย-หญิง และสภาพการแข่งขันในสังคม
  • Long Term Orientation คือให้ความสำคัญในเรื่องระยะยาวมากแค่ไหน
  • Indulgence คือการแสดงออกทางอารมณ์

โดยในแต่ละมิติทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ Hofstede จะให้คะแนนที่แตกต่างกัน ในแต่ละมิติ (Dimensions) คะแนนที่สูงหมายถึงประเทศนั้น “มีความเป็นด้านนั้นสูง” ในขณะที่คะแนนต่ำคือประเทศนั้น “มีความเป็นด้านนั้นต่ำ” หรือจะเรียกว่าเป็นด้านตรงข้ามก็ได้

แต่ในบางเล่มจะเห็นว่า มิติทางวัฒนธรรมของ Hofstede จะมีเพียง 5 มิติ โดยยังไม่มี Indulgence เพราะ Indulgence เป็นมิติทางวัฒนธรรม ที่เพิ่งจะเพิ่มเข้ามาภายหลังได้ไม่นาน


ตัวอย่าง การเปรียบเทียบคะแนนในแต่ละ มิติทางวัฒนธรรม ของ Geert Hofstede 
ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา กับ ประเทศญี่ปุ่น

มิติทางวัฒนธรรม Geert Hofstede สหรัฐ ญี่ปุ่น
กราฟคะแนนของวัฒนธรรมในแต่ละมิติของประเทศสหรัฐอเมริกาเทียบกับประเทศญี่ปุ่น

Power Distance (PDI)

Power Distance คือ เรื่องเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมในเรื่องของอำนาจ

ยิ่งค่า PDI สูงจะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นชัดเจน รวมทั้งคนในสังคมยอมรับในเรื่องลำดับชั้น อำนาจในการตัดสินใจก็จะไปอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงอย่างเดียว และคนในสังคมก็จะพยายามที่จะผลักดันตัวเองขึ้นไปอยู่ในชั้นที่สูงกว่า

ค่า Power Distance (PDI) ที่ต่ำจะเป็นสังคมที่มองทุกคนเท่าเทียมกัน สนใจเรื่องลำดับชั้นน้อย และการตัดสินใจในการทำงานจะเป็นการรวบรวมความคิดของคนในทีมมากกว่าการใช้อำนาจสั่งการโดยไม่สนใจความเห็นของทีม

Individualism (IDV)

Individualism คือ คะแนนด้านความเป็นปัจเจกบุคคลในวัฒนธรรมนั้น ๆ

ค่า Individualism (IDV) ที่สูงหมายความว่าเป็นสังคมที่เน้นอยู่คนเดียว ทำงานคนเดียว ตัดสินใจคนเดียวเองได้โดยไม่ต้องรอความเห็นคนอื่น (ที่พบเห็นกันในสังคมตะวันตก)

ค่า Individualism (IDV) ที่ต่ำจะเป็นสังคมรวมกลุ่ม (Collective) คือ จะทำอะไรเป็นกลุ่ม รอการตัดสินใจเป็นกลุ่ม ต้องคอยอาศัยการสนับสนุนจากทีม นอกจากนี้จะยังเป็นสังคมที่เน้นความสัมพันธ์ระยะยาว

Masculinity (MAS)

Masculinity จะเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างชายหญิงในสังคมนั้น ๆ และการได้รับการยอมรับของสังคมนั้น

สังคมแบบ Masculinity (ค่า MAS สูง) เป็นสังคมที่ยอมรับคนจากความสำเร็จ ยังเป็นสังคมมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิง ยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ความยอมรับกับผู้หญิงเท่าไหร่ ผู้หญิงอาจทำได้เพียงแค่ตำแหน่งทั่วไป (หาได้ยากที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูง) หรือผู้หญิงอาจต้องอยู่บ้านทำงานบ้านอย่างเดียว ในด้านการแข่งขันสังคมแบบ Masculinity ค่อนข้างจะเป็นสังคมที่มีการแข่งขันที่สูง

สังคมแบบ Femininity หรือสังคมที่มีความเป็น Masculinity ต่ำ (ค่า MAS ต่ำ) คือ เป็นสังคมที่เน้นคนและการรักษาความสัมพันธ์มากกว่างาน เน้นคุณภาพชีวิตมากกว่าที่จะมุ่งแสวงหาความสำเร็จอย่างดุเดือด มีความเสมอภาคระหว่างชายหญิงตรงข้ามกับ Masculinity ส่งผลให้ในผู้หญิงสามารถอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ชายได้เป็นเรื่องปกติ

Uncertainty Avoidance (UAI)

Uncertainty Avoidance เป็นมิติที่พูดถึงการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสังคมนั้น ๆ แสดงถึงมุมมองต่อการรับความเสี่ยงของแต่ละวัฒนธรรม

สังคมที่ค่า UAI สูงจะเป็นสังคมที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ความไม่แน่นอน เพราะคนในสังคมนั้นไม่ชอบความไม่แน่นอน ทำให้จะมีกฎมากมายมาป้องกันความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นมา อย่างในการทำสัญญาก็จะระบุเงื่อนไขมากมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

สังคมที่มีค่า UAI ต่ำจะเป็นสังคมที่รับความเสี่ยงได้ ไม่ค่อยจริงจังกับความเสี่ยง ทำให้คนในสังคมแบบนี้ค่อนข้างจะยืดหยุ่น สามารถรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติได้ดีกว่าสังคมที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (มีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า)

Long Term Orientation (LTO)

Long Term Orientation คือ มุมมองด้านการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระยะยาวในแต่ละวัฒนธรรม

ค่า LTO ที่มากแสดงให้เห็นว่าเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความสัมพันธ์ในระยะยาว ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้จากการค่อย ๆ สร้างขึ้นมา ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญกับวัฒนธรรมที่เน้นความสัมพันธ์ในระยะยาว เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีการเจรจาจะค่อนข้างราบรื่น

ค่า LTO ที่ต่ำแสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เน้นสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ทำงานด้วยกันจบเป็นครั้ง ๆ มักจะเป็นวัฒนธรรมที่มีความเป็น Individualism สูง ไม่สนใจเรื่องการช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่าไหร่เพราะเชื่อในความสามารถมากกว่าความสัมพันธ์

Indulgence (IVR)

Indulgence เป็นมิติทางวัฒธรรมที่ 6 ที่ Hofstede ได้เพิ่มเข้ามาภายหลัก โดยคะแนน Indulgence เป็นระดับในการควบคุมความต้องการ

ค่า Indulgence ที่สูง หมายความว่า ผู้คนจะหาความสุขหรือตอบสนองความต้องการได้อย่างเปิดกว้าง เป็นสังคมที่ค่อนข้างอิสระ มีความเป็นปัจเจกสูง

ค่า Indulgence ต่ำหรือเรียกว่า Restraint คนในสังคมจะไม่แสดงออกความต้องการอย่างชัดเจน ค่อนข้างเป็นสังคมที่เคร่งครัดในการแสดงออกต่าง ๆ และเป็นสังคมที่มักจะเก็บอารมณ์ไว้ ไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน


สามารถดูมิติทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้ที่เว็บไซต์ Hofstede-Insights และสามารถเลือกคะแนนมิติทางวัฒนธรรมของ 2 ประเทศเพื่อเปรียบเทียบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด