หน้าแรก » ธุรกิจ » 7S คืออะไร? 7S McKinsey Framework

7S คืออะไร? 7S McKinsey Framework

บทความโดย safesiri
7s McKinsey คือ กลยุทธ์ 7S คือ กรอบแนวคิดของแมคคินซีย์ 7s McKinsey Framework

7s คือ กรอบแนวคิดของ McKinsey ที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายในขององค์กรทั้ง 7s เพื่อทำความเข้าใจแต่ละปัจจัยที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนและมีส่วนสนับสนุนระหว่างกัน ประกอบด้วย Strategy, Structure, Style, System, Staff, Skill และ Shared Value

โดยปัจจัยภายในทั้ง 7 ประการของแนวคิด 7s McKinsey Framework ในแต่ละส่วนเบื้องต้นมีความหมาย ดังนี้

  • Strategy (กลยุทธ์)
  • Structure (โครงสร้าง)
  • Style (รูปแบบ)
  • System (ระบบ)
  • Staff (บุคคล)
  • Skill (ทักษะ)
  • Shared Value (ค่านิยมร่วม)

McKinsey 7S Framework ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ In Search of Excellence (1982) ซึ่งเป็นผลงานของอดีตที่ปรึกษาของ McKinsey Thomas J. Peters และ Robert H. Waterman จึงเป็นเหตุให้ 7s Framework รู้จักกันในชื่อของ 7s McKinsey

โดยแนวคิด 7s McKinsey คือแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าองค์กรที่ดีเกิดจากความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้ง 7 ประการของ 7s McKinsey Framework ที่สนับสนุนระหว่างกัน ในทางกลับกัน การขาดความเชื่อมโยงระหว่างกันของปัจจัยที่สนับสนุนกันหมายถึงการที่การที่ส่วนดังกล่าวไม่ได้ทำงานร่วมกับส่วนอื่นอย่างที่ควร ซึงเป็นเรื่องยากที่องค์กรจะสามารถก้าวหน้าได้ในสถานการณ์ดังกล่าว

7S คือ 7S McKinsey คือ Framework
7s McKinsey จะอยู่ในรูปของแผนผังที่แสดงปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องกันซึ่งมีอิทธิพลต่อกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ 7s เป็นเครื่องมือที่นิยมนำมาใช้ในการวิเคราะห์ว่าปัจจัยภายในและเป็นกรอบที่ช่วยในการวิเคราะห์ SWOT Analysis ในส่วนของปัจจัยภายใน (Internal Factors) ทั้งจุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weakness) โดยพิจารณาทั้ง 7S ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่และสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อนำผลที่ได้ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ ประเมินความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไขภายในองค์กร

ทั้งนี้ ปัจจัยภายในทั้ง 7S ของ 7S McKinsey ยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ Hard S ได้แก่ Strategy Structure และ System ที่เป็นปัจจัยภายในที่สามารถระบุได้ง่ายและเป็นปัจจัยที่ได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายบริหารขององค์กร และ Soft S ได้แก่ Style Staff Skill และ Shared Value ที่เป็นปัจจัยที่จับต้องได้ยากกว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรรมองค์กร (Corporate Culture)

Strategy (กลยุทธ์)

Strategy หมายถึง การวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกโดยมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งการวางแผนเปรียบเสมือนการวางเส้นทางไปสู่จุดหมาย

ในการวิเคราะห์ 7s McKinsey จึงควรพิจารณาว่าองค์กรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนหรือไม่ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานหรือเป้าหมายที่ต้องการ ตลอดจนความสอดคล้องของกลยุทธ์ระหว่างกลยุทธ์ และระหว่างกลยุทธ์กับปัจจัยภายในอื่น

ถ้าหากว่ามี ก็ต้องตั้งคำถามต่อว่ากลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้เราไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ได้จริงหรือไม่ หรือกลยุทธ์ดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งมีการปฏิบัติตามกลยุทธ์นั้นอยู่จริงหรือไม่

Structure (โครงสร้าง)

Structure หมายถึง โครงสร้างองค์กร เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหน้าที่ของบุคลากรภายในองค์กร อย่างเช่น การรวมอำนาจหรือการกระจายอำนาจของผู้บริหาร และลำดับชั้นในการสั่งการ

โครงสร้างองค์กรค่อนข้างจะมีผลกับกลยุทธ์โดยตรง (การที่กลยุทธ์บางอย่างทำไม่ได้หรือไม่ประสบความสำเร็จจริง บางครั้งเป็นเพราะติดที่โครงสร้างองค์กร) ดังนั้น โครงสร้างองค์กรจึงควรมีความสัมพันธ์กับกลยุทธ์ อย่างเช่น องค์กรที่มุ่งเน้นความแปลกใหม่และความนอกกรอบ อาจไม่เหมาะกับการรวมอำนาจผู้บริหารซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างล่าช้า

ในการวิเคราะห์ 7s McKinsey ลำดับแรกจึงควรพิจารณาว่าโครงสร้างองค์กรมีลักษณะอย่างไร มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างไร และขอบเขตความรับผิดชอบเป็นอย่างไร

System (ระบบ)

System หมายถึง กระบวนการและลำดับขั้นในการทำงานที่ต้องเป็นระบบที่สอดคล้องกัน (เข้ากัน) ตลอดจนระบบต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินงานภายในองค์กร

โดย System (ระบบ) ในที่นี้มีความหมายรวมถึงตั่งแต่ขั้นตอนการทำงาน กระบวนการตรวจสอบ มาตรการการปรับปรุงพัฒนา มาตรการความปลอดภัย ระบบที่เกี่ยวกับงาน ตลอดจนซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกระบวนการทำงาน และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนธุรกิจ

ระบบการทำงานที่ดีควรสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะกับกลยุทธ์และโครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง

Style (รูปแบบ)

Style หมายถึง รูปแบบการบริหาร หรือ Style ในการบริหารจัดการของผู้บริหารและวิธีการเป็นผู้นำของผู้บริหาร เนื่องจาก ผู้นำเป็นผู้ถ่ายทอดนโยบายและการดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ

รูปแบบในการบริหารงานจึงควรจะสอดคล้องกับด้านอื่น ๆ อีก 6 ด้านเช่นกัน อย่างเช่น หากโครงสร้างองค์กรเป็นแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ผู้นำควรกระจายอำนาจการตัดสินใจและลดการรวมการตัดสินใจเอาไว้ที่ตนเพียงคนเดียว เพื่อทำให้โครงสร้างองค์กรแบบกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริง

Staff (การจัดการบุคคล)

Staff หมายถึง การบริหารจัดการบุคคลภายในองค์กร เกี่ยวข้องกับ วิธีการคัดเลือกบุคลากร การจัดคนให้เข้ากับงานที่เหมาะกับความสามารถ วิธีการจ่ายค่าตอบแทนทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่ตัวเงิน กฎระเบียบและการลงโทษ และการพัฒนาบุคลากรเดิมที่มีอยู่

ซึ่งการคัดเลือกก็ควรจะสอดคล้องกับอีก 6 ด้าน อย่างเช่น การคัดเลือกพนักงานให้สอดคล้องกับทักษะที่เป็นความโดดเด่นขององค์กร การคัดเลือกพนักงานมีนิสัยสอดคล้องกับโครงสร้างองค์กรและค่านิยมร่วมขององค์กร เป็นต้น

Skill (ทักษะ)

Skill หมายถึง ทักษะ ความโดดเด่น ความเชี่ยวชาญในการผลิต/การขาย/การให้บริการขององค์กร

อะไรคือความเชี่ยวชาญหรือทักษะที่เป็นลักษณะเด่นขององค์กร ในขณะที่องค์กรมีพนักงานที่มีทักษะที่จำเป็นเหล่านั้นอยู่มากน้อยแค่ไหน และมีวิธีการอย่างไรในการคัดเลือกหรือค้นหาบุคลากรที่ตรงกับทักษะ ความโดดเด่น และความเชี่ยวชาญที่องค์กรเป็น

Shared Value (ค่านิยมร่วม)

Shared Value หมายถึง ค่านิยมร่วมในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร องค์กรมีความเชื่ออย่างไร ซึ่งค่านิยมถือเป็นหัวใจขององค์กรเพราะเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์กร ตลอดจนการคัดเลือกบุคลกรที่จะเข้ามาร่วมงาน

กล่าวคือ หากภายในองค์กรมีค่านิยมร่วมที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ยากที่จะทำให้ความคิดของคนในองค์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในทางกลับกันหากค่านิยมร่วม (Shared Value) เป็นไปทิศทางเดียวกัน อย่างเช่น องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา บรรยากาศโดยรวมภายในองค์กรก็ง่ายกว่าที่จะมุ่งไปที่การพัฒนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด