หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » Absolute Advantage คืออะไร? ในการค้าระหว่างประเทศ

Absolute Advantage คืออะไร? ในการค้าระหว่างประเทศ

บทความโดย safesiri
Absolute Advantage คือ ทฤษฎี ความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ ตัวอย่าง Absolute Advantage Adam Smith International Trade

Absolute Advantage คืออะไร?

Absolute Advantage คือ ทฤษฎีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของ Adam Smith ที่เสนอว่าประเทศหนึ่งจะมีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ในการผลิตสินค้าชนิดหนึ่งเมื่อประเทศนั้นสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศคู่แข่งอื่น

โดย Absolute Advantage หรือความได้เปรียบโดยสมบูรณ์จะพิจารณาด้วยการเปรียบเทียบผลผลิตที่ได้จากปัจจัยการผลิตจำนวนเท่ากัน ซึ่งประเทศจะได้เปรียบโดยสมบูรณ์เมื่อพวกสามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้มากกว่าด้วยเงื่อนไขนั้น

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ประเทศหนึ่งจะไม่มีข้อได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Absolute Advantage) ในสิ่งใดเลย และในทางกลับกันก็มีความเป็นไปได้ที่ประเทศหนึ่งจะมีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Absolute Advantage) ในหลายสิ่งหรือทุกสิ่ง

ตามแนวคิด Absolute Advantage ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าที่มีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ควรส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอื่น เนื่องจากประเทศที่ที่มีความได้เปรียบในสินค้าดังกล่าวจะสามารถผลิตสินค้าได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ดังนั้น ประเทศจึงไม่ควรผลิตสินค้าที่ประเทศสามารถนำเข้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจากประเทศอื่นที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า (เพราะประเทศนั้นมีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์) และนำทรัพยากรที่ตนมีไปผลิตสินค้าที่มีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ของตนเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ที่มาของ Absolute Advantage

ทฤษฎี Absolute Advantage เป็นทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมที่นำเสนอโดย Adam Smith ในปี 1776 ในหนังสือชื่อดังของเขา “The Wealth of Nations” โดย Adam Smith ได้แย้งแนวคิดลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าการค้าเป็นเกมผลรวมศูนย์ (Zero-sum Game) ภายใต้การค้าเสรี

ซึ่ง Adam Smith แย้งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทุกประเทศจะร่ำรวยด้วยการทำตามทฤษฎีลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) เพราะเมื่อมันเป็นเกมผลรวมศูนย์ (Zero-sum Game) นั่นหมายความว่าจะมีประเทศหนึ่งที่รวยเมื่ออีกประเทศหนึ่งจนลงเสมอ จากการที่การส่งออกของประเทศหนึ่งหมายถึงการนำเข้าของประเทศอื่น

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมทฤษฎี Absolute Advantage ของ Adam Smith จึงแนะนำให้ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าหนึ่งผลิตสินค้าที่ประเทศนั้นผลิตได้ดีแล้วส่งออก

แต่อย่างที่บอกเอาไว้ในตอนต้นว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศหนึ่งอาจจะไม่มี Absolute Advantage หรือความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ในการผลิตสินค้าใดเลย (เรียกว่า Absolute Disadvantage) จึงทำให้แนวคิด Absolute Advantage ของ Adam Smith มีช่องว่างในจุดนี้ และทำให้ในปี 1817 ได้เกิดแนวคิด Comparative Advantage ของ David Ricardo ขึ้นมา

ตัวอย่าง Absolute Advantage

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าแนวคิด Absolute Advantage ของ Adam Smith ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 4 ข้อ ได้แก่:

  • อยู่บนสมมติฐานที่เป็นการค้าระหว่าง 2 ประเทศ และสินค้า 2 สิ่ง
  • เชื่อว่าการนำเข้าและส่งออก (ดุลการค้า) เท่ากันเสมอ
  • สันนิษฐานว่าการผลิตได้ผลลัพธ์เท่ากันเสมอ สมมติว่า ผลิตเครื่องบิน 1 เครื่องใช้เวลา 10 ชั่วโมง ดังนั้นเครื่องบิน 2 เครื่องก็จะต้องใช้เวลา 20 ชั่วโมง
  • ไม่คำนึงถึงมาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers)

สมมติว่า มีประเทศอยู่ 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีทรัพยากรในการผลิตคิดเป็น 1,000 หน่วยเท่ากัน โดยทั้ง 2 ประเทศสามารถข้าวและผ้าได้เป็นจำนวนดังตารางด้านล่าง

Absolute Advantage คือ ตัวอย่าง ทฤษฎี ความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ Absolute Advantage Theory Adam Smith

จากตารางจะพบว่าสหรัฐอเมริกามีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ในการผลิตผ้า จากการใช้ทรัพยากรเพียง 20 หน่วยต่อผ้า 1 ม้วน ในขณะที่อังกฤษใช้ทรัพยากรถึง 50 หน่วยต่อผ้า 1 ม้วน

ส่วนอังกฤษมีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ในการผลิตข้าว ด้วยการใช้ทรัพยากร 10 หน่วยสำหรับข้าว 1 ตัน ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้ทรัพยากร 25 หน่วยในการผลิตข้าว 1 ตัน

จากตัวอย่างตามแนวคิด Absolute Advantage จะแนะนำให้ประเทศอังกฤษนำทรัพยากรที่มีมาเน้นผลิตข้าวเพื่อส่งออก และนำเข้าผ้าจากสหรัฐฯ แทน ส่วนประเทศสหรัฐฯ นำทรัยากรที่มีมาเน้นผลิตผ้าเพื่อส่งออก และนำเข้าข้าวจากประเทศอังกฤษแทน

ตัวอย่างที่ 2 เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน: สมมติว่ามีพนักงานร้านกาแฟอยู่ 2 คน คือ E และ F ในเวลา 1 ชั่วโมงเท่ากัน E สามารถทำกาแฟได้ 8 แก้ว และชานมได้ 16 แก้ว ในขณะที่ F สามารถทำกาแฟได้ 16 แล้ว และทำชานมได้ 8 แก้ว

จากตัวอย่างจะเห็นว่า E มีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Absolute Advantage) ในการผลิตชานม และ F มีความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ (Absolute Advantage) ในการผลิตกาแฟ

จะเห็นว่าแม้เดิมทีทฤษฎี Absolute Advantage จะใช้อธิบายในบริบทของการค้าระหว่างประเทศ แต่หลักการของ Absolute Advantage สามารถปรับให้เข้ากับระดับธุรกิจได้เช่นกัน เนื่องจากธุรกิจสามารถบรรลุความได้เปรียบโดยสมบูรณ์ด้วยการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นแล้วเน้นไปที่สินค้าที่ได้เปรียบเพื่อผลกำไรสูงสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด