หน้าแรก » การลงทุน » อาร์บิทราจ คือวิธีการทำกำไรที่มีกลไกอย่างไร

อาร์บิทราจ คือวิธีการทำกำไรที่มีกลไกอย่างไร

บทความโดย safesiri
อาร์บิทราจ คือ ตัวอย่าง วิธี การทำอาร์บิทราจ

ในโลกการเงินการเก็งกำไรมักถูกมองเป็นวิธีทำเงินที่รวดเร็วแต่ก็แฝงไปด้วยความเสี่ยง หลายครั้งเราถูกพร่ำบอกว่าการอาร์บิทราจเป็นกลยุทธ์ที่ความเสี่ยงต่ำ ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจพื้นฐานกลยุทธ์การอาร์บิทราจว่าคืออะไร มีกลไกอย่างไร ตลอดจนกลยุทธ์นี้ปราศจากความเสี่ยงจริงหรือไม่?

อาร์บิทราจ คืออะไร?

อาร์บิทราจ คือ การทำกำไรส่วนต่างราคาจากสินทรัพย์บางอย่างจากความแตกต่างของราคาสินทรัพย์ระหว่างตลาดที่มีช่องว่าง โดยพื้นฐานของการทำอาร์บิทราจจึงเป็นการซื้อสินค้าบางอย่างจากตลาดหนึ่งไปขายในอีกตลาดหนึ่งที่ราคาดีกว่า หรือขายสินทรัพย์ด้วยราคาที่ดีกว่าตลาดหนึ่งแล้วไปซื้อคืนในตลาดที่ราคาถูกกว่า

การทำอาร์บิทราจจะทำได้ก็ต่อเมื่อสินทรัพย์ดังกล่าวมีการซื้อขายอยู่ในมากกว่า 1 ตลาด และราคาสินทรัพย์ดังกล่าวในระหว่างตลาดมีราคาที่ต่างกันมากพอที่จะทำกำไรได้ (และคุ้มค่าเสียเวลา) ซึ่งเป็นเรื่องของช่องโหว่ ทำให้ในแต่ละช่วงเวลาสินทรัพย์บางอย่างอาจทำอาร์บิทราจในตลาดหนึ่งได้แต่ในอีกช่วงเวลาหนึ่งก็อาจจะทำอีกไม่ได้แล้ว

โดยช่องว่างของการอาร์บิทราจ คือ กำไรของการอาร์บิทราจจะน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อส่วนต่างราคาระหว่างตลาดค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุดเมื่อมีคนเข้ามาทำการอาร์บิทราจมากขึ้น หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือเมื่อคุณรู้ว่าสินทรัพย์บางอย่างในตลาดบางอย่างสามารถทำอาร์บิทราจได้จากการที่มีคนอื่นมาบอกว่าทำได้ นั่นอาจแปลว่าตอนนั้นเริ่มที่จะสายไปแล้วสำหรับการทำอาร์บิทราจสินค้าดังกล่าว

ตัวอย่างง่าย ๆ ของการทำอาร์บิทราจ คือกรณีของทองคำ (Gold) ที่ทำอาร์บิทราจได้ด้วยการซื้อทองคำจากอีกตลาดหนึ่งไปขายในอีกตลาดหนึ่ง เช่น ซื้อทองคำ 1 บาท ราคา 20,000 บาทจากประเทศไทย ไปขายในประเทศอังกฤษแล้วได้ราคา 25,000 บาท

ตัวอย่างการอาร์บิทราจ

การทำ Arbitrage ที่ง่ายที่สุดคือการซื้อจากตลาดที่ราคาถูกที่สุดไปขายในตลาดที่แพงที่สุด เพื่อเข้าใจพื้นฐานของการอาร์บิทราจ บทความนี้จะใช้ตัวอย่างของการอาร์บิทราจค่าเงิน 3 สกุล ได้แก่ บาท (THB) ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และเยน (JPY)

โดยสมมติว่าอัตราแลกเปลี่ยนของทั้ง 3 สกุลเงินในปัจจุบันมีอัตราแลกเปลี่ยนดังนี้

  • 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ใช้ 31 บาท (THB)
  • 1 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) แลกได้ 113 เยน (JPY)
  • 1 เยน (JPY) เท่ากับ 0.30 บาท (THB)

ในการ Arbitrage ขั้นตอนแรกคือการใช้เงินบาท (THB) ซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD)

ทำให้แลก 1,000 USD ได้ด้วยเงิน 31,000 THB

แล้วนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) ที่ซื้อมา ไปแลกเป็นสกุลเยน (JPY)

ดังนั้น 1,000 USD จะแลกได้ 113,000 JPY

จากนั้นนำเงินเยน (JPY) ที่ได้มา แลกกลับเป็นเงินบาท (THB) เพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง

ดังนั้น 113,000 JPY จะแลกได้ทั้งหมด 33,900 บาท

จากตัวอย่างจะทำให้ทำกำไรจากการ Arbitrage ได้เท่ากับ 33,900 – 31,000 = 2,900 บาท ซึ่งเราเรียกการอาร์บิทราจในลักษณะนี้ว่า Triangular Arbitrage

จะเห็นว่าจากตัวอย่างขั้นตอนของการอาร์บิทราจ คือ ใช้เงินบาทแลกดอลลาร์ > ดอลลาร์และเยน > เยนแลกกลับเป็นบาท

การอาร์บิทราจต้องทำอย่างไรบ้าง

การจะทำอาร์บิทราจได้นั้น ขั้นแรกคือต้องหาช่องว่าของตลาดให้เจอก่อนเป็นอันดับแรก (แน่นอนว่าไม่ได้หาเจอง่าย ๆ เพราะการอาร์บิทราจไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องอย่าง Broker มักจะหาทางป้องกันเอาไว้แล้ว) โดยสิ่งที่สามารถทำอาร์บิทราจได้ง่ายที่สุดคือตลาดใหม่ที่ยังมีช่องโหว่อยู่มากมายอย่างตลาด Cryptocurrency ที่มีช่องโหว่อยู่มากมาย (แน่นอนว่ามากกว่าแค่การอาร์บิทราจ)

แต่เมื่อคุณหาเจอแล้วว่าจะอาร์บิทราจสินทรัพย์อะไรในตลาดไหน ขั้นต่อมาให้ลองคำนวณกำไรเทียบกับต้นทุนว่าท้ายที่สุดคุ้มค่าที่จะอาร์บิทราจหรือไม่ โดยต้นทุนจากการอาร์บิทราจ ได้แก่

  1. ค่าธรรมเนียม ที่เกิดขึ้นจากการซื้อสินทรัพย์นั้น
  2. ค่าคอมมิชชั่น (Commission) ในกรณีที่อาร์บิทราจ หลักทรัพย์ผ่าน Broker

จากตัวอย่างการ Arbitrage ด้านบนจะเห็นว่าต้นทุนคือ ค่าธรรมเนียมของการซื้อขายเงิน (Currency) ทั้ง 3 คู่เงินนั่นเอง

ความเสี่ยงของการอาร์บิทราจ คือ การที่คุณจะต้องเสียเวลาหาช่องว่างให้เจอแล้วเข้าไปทำการอาร์บิทราจและต้องเป็นช่องว่าที่ใหญ่พอจะทำกำไรได้ ในขณะที่การอาร์บิทราจ ส่วนใหญ่ให้กำไรที่ไม่สูงมากจึงต้องใช้ปริมาณการซื้อขายในปริมาณมาก ๆ เพื่อทำให้กำไรได้มากพอ

นอกจากนี้ การเข้ามาอาร์บิทราจที่ช้าเกินไปในช่วงที่มีคนเข้ามาทำอาร์บิทราจในสินทรัพย์ดังกล่าวมากขึ้น ช่องว่างราคาก็จะลดลงเรื่อย ๆ จนทำกำไรจากส่วนต่างไม่ได้ในท้ายที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด