หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » การแห่ถอนเงิน คือ สิ่งที่ทำให้ “ธนาคารล้มละลาย” ได้อย่างไร?

การแห่ถอนเงิน คือ สิ่งที่ทำให้ “ธนาคารล้มละลาย” ได้อย่างไร?

บทความโดย safesiri
การแห่ถอนเงิน คือ ทำให้ ธนาคารล้มละลาย ได้อย่างไร

เคยสงสัยไหมว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ธนาคารที่มีขนาดใหญ่สามารถล้มละลายลงได้ คำตอบคือ “การแห่ถอนเงิน” ที่เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากแห่ถอนเงินออกจากธนาคารพร้อม ๆ กัน ในบทความนี้เราจะพาไปหาคำตอบว่าทำไม การแห่ถอนเงิน คือ สิ่งที่ทำให้ “ธนาคารล้มละลาย” ได้อย่างง่ายดาย

การแห่ถอนเงิน คืออะไร?

การแห่ถอนเงิน คือ สถานการณ์ที่ลูกค้าจำนวนมากของธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่เข้ามาถอนเงินฝากพร้อมกัน จากเหตุผลด้านความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคาร จนนำไปสู่ปัญหาของสภาพคล่องของธนาคารและส่งผลให้ธนาคารล้มละลายในท้ายที่สุด

เหตุการณ์การแห่ถอนเงิน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อผู้ฝากเงินที่เป็นลูกค้าของธนาคาร เชื่อว่าธนาคารอาจล้มละลายหรือมูลค่าของเงินฝากอาจตกอยู่ในความเสี่ยง จึงรีบมาถอนเงินออกจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน

เมื่อการแห่ถอนเงินเริ่มต้นขึ้นแล้ว มักจะนำไปสู่ระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วในลักษณะเดียวกับข่าวลืม เมื่อจำนวนของลูกค้าที่แห่มาถอนเงินฝากมากขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลให้เงินสดที่ธนาคารถือเอาไว้เป็นสภาพคล่องไม่เพียงพอ ส่งผลให้ธนาคารจำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์และหลักทรัพย์ที่มีอยู่แบบขาดทุนเพื่อรีบแปลงเป็นเงินสดให้เร็วที่สุด

ปลายทางของการแห่ถอนเงินในลักษณะดังกล่าวจึงจบลงที่การที่ธนาคารต้องสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมากจากการที่จำเป็นต้องรีบแปลงเป็นเงินสด หรือในกรณีที่ธนาคารไม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่การล้มละลายของธนาคารได้ในท้ายที่สุด

โดยการแห่ถอนเงินที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคารเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง หนึ่งในครั้งใหญ่ที่สุดของการแห่ถอนเงิน คือ ในช่วง 1930s ในยุคของ The Great Depression จากการแห่ถอนเงินของผู้ฝากเนื่องจากธนาคารได้นำเงินฝากของลูกค้าไปใช้ลงทุนในหุ้นซึ่งตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลงอย่างมากในขณะนั้นจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจ

การแห่ถอนเงิน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การแห่ถอนเงิน คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้และกลายเป็นไฟลามทุ่งจาก “ความตื่นตะหนก” ของผู้ฝาก มากกว่าปัญหาจริง ๆ ของตัวธนาคารหรือสถาบันการเงินเอง

เนื่องจาก การแห่ถอนเงินสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อลูกค้าจำนวนมากของธนาคารหรือสถาบันการเงินถอนเงินฝากพร้อมกันเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคาร สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากผู้ฝากเชื่อว่าธนาคารอาจล้มละลายหรือมูลค่าของเงินฝากอาจตกอยู่ในความเสี่ยง (ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะมีโอกาสรอดอยู่ก็ได้)

ดังนั้น หากถามว่า “การแห่ถอนเงิน เกิดขึ้นได้อย่างไร?” ก็อาจพูดได้ว่าเกิดจากอะไรก็ตามที่ “กระตุ้นความตื่นตะหนกของผู้ฝาก”

โดยทั่วไปปัจจัยที่สามารถความตื่นตะหนกของผู้ฝากเงิน และนำไปสู่การแห่ถอนเงิน มักจะเป็นประเด็นต่อไปนี้

  • ข่าวลือหรือข่าวเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินหรือการล้มละลายของธนาคาร
  • ขาดความมั่นใจในการบริหารหรือความเป็นผู้นำของผู้บริหารธนาคาร
  • ข่าวเชิงลบหรือข่าวลือเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือการลงทุนของธนาคาร
  • ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วไปหรือวิกฤตการเงินที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือควรตระหนักเอาไว้คือ การแห่ถอนเงินสามารถเกิดขึ้นได้กับธนาคารใดก็ตาม แม้แต่กับธนาคารที่ดูมีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงก็ตาม เพราะถ้าหากมีการรับรู้ถึงวิกฤตหรือความตื่นตระหนกในตลาดและผู้ฝากเงินสูญเสียความมั่นใจในระบบการเงิน สุดท้ายผู้ฝากก็จะแห่มาถอนเงินจนนำไปสู่การแห่ถอนเงินในท้ายที่สุดอยู่ดี ในขณะที่ตามปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นธนาคารที่สุขภาพทางการเงินแข็งแรงมากขนาดไหนก็มักจะไม่ถือเงินสดหรือมีสภาพคล่องที่สามารถรับมือการแห่ถอนเงินได้หากสถานการณ์เลวร้าย

ผลกระทบจากการแห่ถอนเงิน

ผลที่ตามมาจากการแห่ถอนเงินจากธนาคารอาจส่งผลรุนแรงต่อทั้งตัวธนาคารที่ผู้ฝากแห่ถอนเงินและต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแห่ถอนเงิน ได้แก่

การล้มละลายของธนาคาร การแห่ถอนเงินอาจทำให้ธนาคารล้มละลายได้หากธนาคารมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อความต้องการถอนเงินของผู้ฝาก ซึ่งการที่ธนาคารล้มละลายก็จะนำไปสู่การสูญเสียเงินออมของผู้ฝาก ตลอดจนการสูญเสียเงินระหว่างธนาคารด้วยกันเอง

การสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบการเงิน การแห่ถอนเงินที่นำไปสู่การที่ธนาคารล้มละลาย จะนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ซึ่งอาจทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นเกิดการแห่ถอนเงินตามมา (และเกิดได้ง่ายขึ้นตามความเชื่อมั่นที่ลดน้อยถอยลง)

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การแห่ถอนเงินที่ลุกลามไปสู่วงกว้างสามารถนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ จากการที่บั่นทอนความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินลดลง ตลอดจนการสูญเสียงานของพนักงานที่ธนาคารที่ล้มละลาย ทั้งหมดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศฃดลดลง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด