หน้าแรก » ธุรกิจ » CEO คือตำแหน่งอะไร? และรับผิดชอบอะไร

CEO คือตำแหน่งอะไร? และรับผิดชอบอะไร

บทความโดย safesiri
CEO คือ ย่อมาจาก Chief Executive Officer คือ ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน้าที่

ในโลกธุรกิจ คำว่า CEO หรือ Chief Executive Officer เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารและกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด ตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ CEO กันให้มากขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว CEO คืออะไร มีหน้าที่อะไรบ้าง และมีคุณสมบัติอย่างไร ตลอดจนธุรกิจแบบไหนต้องการตำแหน่งนี้

CEO คืออะไร?

CEO คือ Chief Executive Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่สุดในองค์กร มีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจที่สำคัญและเป็นผู้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์โดยรวมขององค์กร

บทบาทโดยรวมของตำแหน่ง CEO มีหน้าที่ในการทำให้แน่ใจว่าบริษัทมีผลกำไร มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย เพื่อการเติบโตและความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยปกติ CEO จึงเป็นผู้บริหารที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามการตัดสินใจของคณะกรรมการ ด้วยการจัดการการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ กล่าวคือ CEO มีหน้าที่รับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทสำหรับผลการปฏิบัติงานของบริษัท

อย่างไรก็ตาม CEO ไม่ได้มีหน้าที่ทำทุกอย่างหรือตัดสินใจในทุก ๆ เรื่อง ในองค์กรขนาดใหญ่จะมีผู้บริหารระดับสูง (C-Level) รายอื่น ที่รับหน้าที่บริหารจัดการและรายงานผลการดำเนินงานในส่วนงานเฉพาะทางโดยตรงต่อ CEO อีกทอด อย่างเช่น Chief Operating Officer (COO) หรือ Chief Financial Officer (CFO)

ตำแหน่ง CEO รับผิดชอบอะไร?

ความรับผิดชอบของตำแหน่ง CEO ที่ชัดเจนจะแตกต่างกันในแต่ละธุรกิจและในแต่ละวัฒนธรรมองค์กร แต่โดยทั่วไปหน้าที่ของพวกเขามักจะอยู่ในขอบเขต ดังนี้

  • การกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และเป้าหมายระยะสั้นของบริษัท (Objectives) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กร ไปจนถึงการสร้างและจัดการวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร
  • การตัดสินใจที่สำคัญในนามของบริษัทที่ส่งผลสำคัญต่อประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร รวมถึงการลงทุนครั้งใหญ่ การควบรวมและซื้อกิจการ และการริเริ่มเชิงกลยุทธ์อื่น ๆ
  • สร้างและนำทีมผู้บริหาร ตลอดจนมอบหมายความรับผิดชอบให้กับผู้จัดการคนอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ CEO
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทมีทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานและบรรลุเป้าหมายได้
  • สร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างเช่น ลูกค้า นักลงทุน และพนักงาน
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลการดำเนินงานทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามหรือเกินกว่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์
  • วิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงขององค์กร ทั้งความเสี่ยงทางการเงิน การดำเนินงาน และชื่อเสียง รวมถึงติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมและสภาวะตลาดเพื่อระบุโอกาสและภัยคุกคามที่ต้องเผชิญในการแข่งขัน
  • ในบางองค์กร CEO อาจเป็นตัวแทนของบริษัทในที่สาธารณะและสื่อสารวิสัยทัศน์ขององค์กรสู่สาธารณะ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

CEO ใช่เจ้าของบริษัทหรือเปล่า?

แม้ว่า CEO บางคนอาจจะเป็นเจ้าของบริษัท แต่ CEO ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มาจากผู้ที่เป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของบริษัทเท่านั้น ซึ่ง CEO หลายคนก็มีสถานะเป็นเพียงพนักงานของบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากคณะกรรมการบริหารเพื่อจัดการการดำเนินงานและตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เท่านั้น

โดยส่วนใหญ่ CEO ที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมักจะพบได้มากในบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้น ในทางกลับกันในบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท CEO อาจไม่มีส่วนได้เสียในบริษัทเลยเป็นเพียงผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ทำให้ CEO ดังกล่าวอาจะได้รับเพียงค่าตอบแทนในรูปแบบของเงินเดือน โบนัส และสิ่งจูงใจอื่น อย่างเช่น Satya Nadella, CEO ของ Microsoft และ Sundar Pichai, CEO ของ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ต่างก็ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งบริษัท

ธุรกิจแบบไหนจำเป็นที่จะต้องมี CEO?

โดยทั่วไปแล้วองค์กรส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีขนาดหรืออุตสาหกรรมใด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กหรือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่ง CEO เป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์และจัดการทิศทางขององค์กร และทำการตัดสินใจที่สำคัญซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตและความสำเร็จ

เพียงแต่ในบางองค์กรหน้าที่การบริหารงานในลักษณะของ CEO อาจใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันเมื่อกล่าวถึงผู้บริหารระดับสูง เช่น “ประธาน” หรือ “กรรมการผู้จัดการ” เพื่อกล่าวถึงผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการโดยรวมและทิศทางของบริษัท

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด