หน้าแรก » ธุรกิจ » CFO คืออะไร? ตำแหน่ง Chief Financial Officer เกี่ยวกับอะไรบ้าง

CFO คืออะไร? ตำแหน่ง Chief Financial Officer เกี่ยวกับอะไรบ้าง

บทความโดย safesiri
CFO คือ Chief Financial Officer หน้าที่ ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ทำอะไร

ในโลกธุรกิจทุกการตัดสินใจล้วนเกี่ยวพันกับ “เงิน” ยิ่งองค์กรใหญ่ ภาระหน้าที่ของผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับเงินนี้ยิ่งท้าทาย แต่ใครล่ะที่จะเป็นผู้คุมและตัดสินใจเกี่ยวกับเงินเหล่านี้? บทความนี้เราจะพาไปรู้จัก CFO (Chief Financial Officer) ผู้บริหารที่ทำหน้าที่คุมบังเหียนด้านการเงินของทั้งองค์กร ผู้กำหนดทิศทางการลงทุนและจัดการความเสี่ยงทางด้านการเงิน

CFO คืออะไร?

CFO คือ Chief Financial Officer หรือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน เป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินของบริษัท รับผิดชอบในการจัดการและตัดสินใจในการดำเนินงานเกี่ยวกับด้านการเงินของบริษัททั้งหมด

โดยทั่วไป CFO มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทมีทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายของบริษัท ด้วยการจัดการความเสี่ยงทางการเงินและโอกาสที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่

ตัวอย่างเช่น การวางแผนการเงินในโครงการ การวิเคราะห์ทางการเงิน การลงทุน การวิเคราะห์ความเสี่ยง การทำบัญชี และการรายงานทางการเงิน เป็นต้น

นอกเหนือจากการจัดการการดำเนินงานทางการเงิน (Financial Operations Management) ของบริษัท CFO ยังอาจมีส่วนร่วมในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจ และอาจมีบทบาทสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์และทิศทางโดยรวมของบริษัท

หน้าที่ของตำแหน่ง CFO

ตามที่ได้อธิบายในตอนต้น CFO หรือ Chief Financial Officer คือ ผู้บริหารระดับสูงที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทและดูแลสถานะทางการเงินของบริษัท

ความรับผิดชอบหลักของ CFO โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง ดังนี้:

  • วิเคราะห์และวางแผนการเงินขององค์กร: CFO มีหน้าที่สร้างและจัดการงบประมาณทางการเงินของบริษัท คาดการณ์ประสิทธิภาพทางการเงิน และวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการตัดสินใจในทางการเงินและกลยุทธ์ต่าง ๆ
  • การจัดสรรเงินทุนและโครงสร้างเงินทุน: เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการของโครงการ การดำเนินงาน การลงทุนของบริษัท และภาระทางการเงินของบริษัท
  • บริหารความเสี่ยง: รับผิดชอบในการระบุและบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่บริษัทอาจเผชิญ เช่น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงด้านเครดิต นอกจากนี้ยังอาจรับผิดชอบในการจัดการนโยบายการประกันของบริษัทและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงอื่น ๆ
  • บัญชีและการรายงานทางการเงิน: ดูแลงานด้านบัญชีของบริษัทและดูแลให้งบการเงินมีความถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังอาจรับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
  • นักลงทุนสัมพันธ์: ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลทางการเงินและผลการดำเนินงานแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ของบริษัท

บริษัทแบบไหนที่ต้องการ CFO

เมื่อพูดในเชิงหลักการและจากหน้าที่ของ CFO จะเห็นว่าโดยทั่วไปทุกบริษัทย่อมต้องการ CFO อยู่แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งเราสามารถเห็นตำแหน่ง CFO ได้ในทุกบริษัทชื่อดัง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่ทุกองค์กรที่มีตำแหน่ง Chief Financial Officer หรือ CFO โดยเฉพาะในบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่

สำหรับบริษัทที่มักจะต้องการ CFO มักจะเริ่มจะเริ่มจากบริษัทขนาดกลาง (Medium-sized Companies) ในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่การบริหารจัดการด้านการเงินสำคัญจนไม่อาจสามารถละเลยได้เลย

อย่างเช่น ธุรกิจประกัน, สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารและธนาคาร, อสังหาริมทรัพย์, และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจะไม่มีตำแหน่ง Chief Financial Officer หรือ CFO อยู่ในองค์กร แต่การจัดการด้านการเงินก็จะรวมอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูงอื่นแทน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด