หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » Demand เทียม คืออะไร? เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

Demand เทียม คืออะไร? เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

บทความโดย safesiri
Demand เทียม คือ Artificial demand คือ ดีมานด์เทียม ในทางเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์เทียม

Demand เทียม คือ ความต้องการซื้อที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการซื้อเพื่อนำไปใช้จริง แต่เป็นระดับความต้องการซื้อ (Demand) ที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงอย่างการซื้อเพื่อคาดหวังว่าจะนำสินทรัพย์ดังกล่าวไปใช้เก็งกำไรเพื่อขายให้ได้ราคาแพงในอนาคต

ตามปกติแล้ว Demand แท้ หรือ Demand ในบริบทปกติอย่างที่ควรจะเป็น ในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง ความต้องการซื้อที่เป็นความต้องการที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าบางอย่างอย่างเต็มใจและจะสามารถซื้อได้ในราคาเฉพาะในแต่ละช่วงเวลา และด้วยความที่สินค้ามีอยู่อย่างจำกัด จึงจะส่งห้ระดับราคาของสินค้าเพิ่มขึ้นตามระดับความต้องการซื้อ (Demand)

ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าจะเป็น Demand แท้ หรือ Demand เทียม คือสิ่งที่เมื่อยิ่งเป็นที่ต้องการซื้อของผู้ที่มีกำลังซื้อและจะซื้อ ในขณะที่สินค้ามีอยู่จำกัด ผู้ซื้อก็จะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้สินค้านั้นมา จนกว่าจะถึงระดับราคาที่ผู้ซื้อรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผลและตัดใจไม่ซื้อ

ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวของ Demand จะเห็นได้บ่อยในรูปแบบของกราฟ Demand ด้านล่าง ที่เป็นกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและความต้องการซื้อ โดยระดับราคาที่จะเพิ่มขึ้นจะทำให้จำนวนความต้องการซื้อสินค้าลดลง เรียกว่า กฎของอุปสงค์ (Law of Demand)

กราฟ Demand ดีมานด์เทียม Demand เทียม คืออะไร
กราฟ Demand ตามปกติ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคากับปริมาณความต้องการซื้อสินค้า

Demand เทียม เกิดขึ้นได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าเมื่อมีความต้องการซื้อหรือ Demand เกิดขึ้น (โดยมีผู้ที่มีกำลังซื้อสินค้าที่ต้องการซื้อสินค้านั้น) จะทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามกลไกในข้างต้น ซึ่งกลไกดังกล่าวส่งผลกับทุกผู้ซื้อและทุกสินค้า โดยไม่สนว่าสินค้าดังกล่าวจะถูกซื้อไปด้วยจุดประสงค์ใด

เพราะไม่ว่าจะเป็น Demand แท้ หรือ Demand เทียม ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นความต้องการซื้อ เมื่อความต้องการซื้อมากขึ้นราคาก็จะสูงขึ้นตามกลไกของตลาด

กล่าวคือ Demand แท้ และ Demand เทียม เป็นสิ่งที่ต่างกันเพียงแค่วัตถุประสงค์ของผู้ซื้อ ในขณะที่ราคาของสินค้าเดียวกันไม่ได้แบ่งแยกว่ามาจากความต้องการที่แท้จริงในการใช้ประโยชน์สินค้า (Demand แท้) หรือมาจากการต้องการซื้อที่เกิดจากการกักตุนหรือเก็งกำไรในลักษณะที่เรียกว่า Demand เทียม

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แม้ว่าจะมีผู้ใช้สินค้า A เพียง 10 คน แต่มีผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับสินค้าดังกล่าว 1,000 คน เข้ามาซื้อเพื่อเก็บเอาไว้เก็งกำไร ราคาของสินค้าดังกล่าวก็จะเพิ่มสูงขึ้น และผู้ใช้สินค้า A จริงที่มีอยู่เพียง 10 คนก็จะต้องจ่ายในราคาดังกล่าวหากว่าต้องการใช้สินค้า แม้ว่าจะไม่ชอบใจก็ตาม

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Demand เทียม กลุ่มแรกจึงเป็นผู้ที่ต้องการซื้อสินค้านั้นเพื่อใช้ประโยชน์จริง ที่จะต้องซื้อสินค้านั้นแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งก็เป็นผลมาจากที่ราคาสินค้าสูงขึ้นจากนักลงทุนที่แห่เข้ามาซื้อสินค้าดังกล่าวเพื่อเก็บไว้เก็งกำไร

ตัวอย่าง Demand เทียม

สำหรับตัวอย่าง Demand เทียมที่ชัดเจนที่สุดมาโดยตลอด คือ อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดที่มักจะเกิด Demand เทียม อย่างมหาศาลในช่วงขาขึ้น และมักจะมีจุดจบแบบเดิม ๆ มาโดยตลอดในแต่ละรอบ

โดยกลไก Demand เทียมดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นจากแนวคิดในลักษณะที่ว่า “ไม่ว่ายังไงคนก็ต้องซื้อบ้าน เพราะคนต้องอยู่บ้าน” หรือ “ยังไงบ้านก็มีแต่ราคาเพิ่มขึ้น ซื้อไว้ยังไงก็กำไร” ด้วยทัศนคติเหล่านี้ทำให้นักลงทุนเหล่านี้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็บไว้เก็งกำไร ทำให้ตัวเลขยอดขายออกมาดูดีจนดูเหมือนจะมีความต้องการซื้อจากคนทั่วไปที่ต้องการซื้อบ้าน

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการซื้อในตลาด ทั้งที่เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นในลักษณะของ Demand เทียม

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเมื่อ Demand เทียมเพิ่มขึ้น และดันราคาอสังหาริมทรัพย์จนเกินระดับที่ผู้ซื้อมองว่าเกินระดับความสมเหตุสมผลผู้ซื้อก็จะหยุดซื้อ หรือไม่สามารถซื้อได้อีกแล้วเพราะราคาไกลเกินเอื้อมกว่าที่จะซื้อได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดคำถามในวงกว้างว่า “แล้วจะขายให้ใคร ในเมื่อคนที่ต้องการจะซื้อจริง ๆ ยังไม่สามารถซื้อได้?” ก็จะนำไปสู่ปัญหาที่เกิดจาก Demand เทียม ของอสังหาริมทรัพย์อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาโดยตลอด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด