หน้าแรก » ธุรกิจ » Just In Time คืออะไร? มาเข้าใจกับ ระบบ JIT

Just In Time คืออะไร? มาเข้าใจกับ ระบบ JIT

บทความโดย safesiri
Just In Time คือ JIT ระบบ การผลิตแบบทันเวลาพอดี

Just In Time คือ ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี ที่จะผลิตสินค้าเมื่อมีความต้องการซื้อจากลูกค้าเท่านั้นและจะส่งมอบให้ลูกค้าทันทีหลังจากผลิตเสร็จโดยระบบ JIT จะไม่เก็บสินค้าเอาไว้ เพื่อลดจำนวนสินค้าคงคลังให้เท่ากับ 0 หรือใกล้เคียงกับ 0 ที่สุด (เรียกว่า Zero Inventory)

การผลิตแบบ Just In Time (JIT) จะไม่ได้ผลิตสินค้าจำนวนมากไว้เพื่อรอขายเหมือนกับการผลิตแบบ Mass Production ที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมการผลิต แต่จะผลิตสินค้าโดยใช้คำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นตัวกำหนดการผลิต

Just In Time หรือ JIT คือ ระบบการผลิตที่มีต้นกำเนิดมาจากบริษัท Toyota บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี โดยที่มาและวัตถุประสงค์ของระบบ Just In Time คือ การลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนจากการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory) ทั้งสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วและชิ้นส่วนวัตถุดิบที่จะนำไปผลิตต่อ

อย่างที่บอกว่า การผลิตแบบทันเวลาพอดีหรือ Just In Time เป็นด้านตรงข้ามของการผลิตแบบ Mass Production ที่เป็นการผลิตสินค้าจำนวนมากแล้วเก็บสินค้าเอาไว้รอขาย เพื่อใช้ประโยชน์จาก Economies of Scale หรือ การประหยัดต่อขนาด ที่จะผลิตสินค้าจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนเฉลี่ยลง

แต่การผลิตครั้งละมาก ๆ ในรูปแบบ Mass Production นอกจากจะต้องเก็บสินค้าที่ผลิตเสร็จเอาไว้ แต่บริษัทยังต้องเก็บวัตถุดิบที่ซื้อเอาไว้รอผลิต ทำให้เกิด Waste หรือ ความสูญเปล่าจากการผลิตที่เป็นต้นทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ ได้แก่:

ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง เช่น ค่าเช่าในกรณีที่ต้องเช่าคลัง พื้นที่ที่เสียไปในการจัดเก็บ โอกาสที่สินค้าที่เก็บจะตกรุ่น ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าออกคลัง เป็นต้น

ความยุ่งยากและความสับสนในการผลิตสินค้าที่มีวัตถุดิบจำนวนมาก ในการผลิตสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก การสั่งซื้อวัตถุดิบครั้งละมากๆ เพิ่มโอกาสในการผลิตที่ผิดพลาดจากความสับสนในการเบิกวัตถุดิบเข้าสู่ไลน์การผลิต เนื่องจากจำนวนวัตถุดิบไม่ได้มีอยู่พอดีเท่ากับจำนวนสินค้าที่จะผลิต

ต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบครั้งละมากๆ เพราะต้องผลิตครั้งละมากๆ ในขณะที่สินค้าที่ผลิตต้องรอเวลาไปจนกว่าจะขายได้ ถึงจะได้เงินกลับมา ทำให้จนกว่าจะขายสินค้าเหล่านี้ได้ ต้นทุนที่ลงทุนไปก็จะกลายเป็นต้นทุนจม (Sunk Cost)

ประโยชน์ของ Just In Time (JIT)

จากปัญหาด้านบนจึงทำให้เกิดระบบ Just In Time ขึ้นมาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่:

ลดต้นทุนสินค้าคงคลัง ต้นทุนจากการเคลื่อนย้ายเข้าออก ต้นทุนการเก็บรักษา ต้นทุนที่มาจากการเช่าคลังสินค้า รวมไปถึงการที่สินค้าที่เก็บไว้ตกรุ่นทำให้ไม่สามารถขายได้ในราคาเดิมอีกต่อไป จนต้องนำมาขายลดราคาเพื่อลดสินค้าคงคลังที่ไม่สามารถใช้ได้

ลดความผิดพลาดจากการผลิต การสั่งวัตถุดิบมาเท่ากับจำนวนสินค้าที่ผลิต และการมีวัตถุดิบอยู่ในไลน์การผลิตเท่ากับจำนวนสินค้าที่ต้องผลิต ทำให้รู้ได้ทันทีว่าการผลิตมีความผิดพลาดจากการประกอบชิ้นส่วนที่ขายหรือเกิน รู้ได้ทันทีว่าขาดหรือเกินเพราะมีชิ้นส่วน = ที่ต้องใช้

ลดต้นทุนในการสั่งซื้อวัตถุดิบ การสั่งซื้อวัตถุดิบครั้งละน้อย (พอดีตามต้องการ) ทำให้เงินก้อนใหญ่ไม่จมไปกับการซื้อวัตถุดิบครั้งละจำนวนมาก รวมถึงลดภาระจากดอกเบี้ยที่สูงของการกู้เงินก้อนใหญ่

ข้อจำกัดของ ระบบ Just In Time

พื้นฐานของระบบ Just In Time คือ การผลิตแบบทันเวลาพอดี ที่ไม่ต้องเก็บสินค้าคงคลังหรือมีไว้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความสูญเปล่าจากการผลิต (Waste)

อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรที่มีแต่ข้อดี ระบบ Just In Time เองก็มีข้อเสีย โดยข้อเสียที่สำคัญของระบบ Just In Time มาจากการที่ลดสินค้าคงคลังให้เหลือศูนย์ (Zero Inventory)

การไม่มีสินค้าคงคลังหมายความว่าถ้าต้องขายแต่กลับไม่สามารถผลิตได้ ก็จะไม่มีสินค้าส่งมอบให้กับลูกค้าทำให้เสียโอกาสในการขาย และถ้าหากว่านั่นเป็นสัญญาการผลิต หมายถึง บริษัทจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับคู่สัญญาที่เสียหายจากการที่เราไม่มีสินค้าส่งมอบ

ทำให้การผลิตแบบทันเวลาพอดีหรือ Just In Time คือ ระบบที่ต้องพึ่งพาข้อมูลภายในและการพยากรณ์ยอดขายที่แม่นยำหรือใกล้เคียงที่สุด

ปัญหาของระบบ Just In Time คืออะไร?

ระบบ Just In Time จะเกิดปัญหาเมื่อการผลิตสินค้าไม่เป็นไปอย่างไหลลื่นตามแผนการผลิต ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ระบบ Just In Time เกิดปัญหาก็คืออะไรก็ตามที่ทำให้การผลิตไม่ราบรื่นนั่นเอง ตัวอย่างเช่น:

ปัญหาจากการแบ่งปันข้อมูลภายใน การสื่อสารเรื่องความต้องการสินค้าที่ผิดพลาด ทำให้ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ (หรือเกินความต้องการ)

ปัญหาจากคุณภาพของวัตถุดิบ จากการที่สั่งวัตถุดิบมาเท่ากับจำนวนสินค้าที่ผลิต ถ้าหากว่าวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพเป็นจำนวนมากหรือใช้ไม่ได้บ่อยในระดับที่วัตถุดิบสำรองไม่เพียงพอ บริษัทก็จะมีต้นทุนที่สูงกว่าปกติจากการสั่งวัตถุดิบเพิ่มเพียงไม่กี่ชิ้น

ปัญหาจาก Supplier ที่ไม่สามารถส่งมอบวัตถุดิบได้ทันเวลา ทำให้การผลิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่มีวัตถุดิบ ดังนั้นการคัดเลือก Supplier และความสัมพันธ์กับ Supplier จึงสำคัญกับการใช้ระบบ Just In Time

ในส่วนนี้อาจแก้ไขด้วยการใช้การขนส่งแบบ Milk Run ที่เป็นการลดปัญหาความล่าช้าในการส่งสินค้าของ Supplier จากการที่บริษัทจะเป็นผู้ไปรับวัตถุดิบเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด