หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » Marginal Product คืออะไร? ผลผลิตส่วนเพิ่มในทางเศรษฐศาสตร์

Marginal Product คืออะไร? ผลผลิตส่วนเพิ่มในทางเศรษฐศาสตร์

บทความโดย safesiri
Marginal Product คือ ผลผลิตส่วนเพิ่ม เศรษฐศาสตร์ ผลผลิตเพิ่ม ผลิตภาพหน่วยสุดท้าย

Marginal Product คืออะไร?

Marginal Product คือ ผลผลิตส่วนเพิ่มหรือผลิตภาพหน่วยสุดท้ายในทางเศรษฐศาสตร์ เกิดจากการเพิ่มปัจจัยการผลิต 1 หน่วยโดยที่ปัจจัยการผลิตอื่นทั้งหมดคงที่ ซึ่งจำนวนการเปลี่ยนแปลงของ Marginal Product อาจเป็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ลดลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง Marginal Product เป็นการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตทั้งหมด (Output) จากการที่ปริมาณปัจจัยการผลิต (Input) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเปลี่ยนแปลงไป 1 หน่วย

ตัวอย่างเช่น มีสวนขนาด 2 ไร่ โดยชาวสวน 2 คนสามารถปลูกส้มได้ 6 ต้นภายในเวลา 1 ชั่วโมง เมื่อเพิ่มชาวสวนขึ้นอีก 1 คน พบว่าชาวสวน 3 คนปลูกส้มได้ 8 ต้นภายในเวลา 1 ชั่วโมง ในกรณีนี้ Marginal Product ของการเพิ่มชาวสวนคนที่ 3 (Input) คือจำนวนส้มที่ปลูกเพิ่มขึ้นได้อีก 2 ต้น

แนวคิด Marginal Product คือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการผลิต (Input) ที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตและผลผลิต (Output) ที่ได้จากกระบวนการผลิตระยะสั้น ความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้กำหนดระดับของปัจจัยการผลิต (Input) ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อที่จะได้ผลผลิต (Output) ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจ

กล่าวคือ ความเข้าใจใน Marginal Product จะช่วยทำให้ธุรกิจเข้าใจว่าไม่ควรผลิตด้วยการใช้กำลังการผลิตหรือปัจจัยการผลิตมากเกินระดับใด และรู้ว่าระดับการผลิตปัจจุบันน้อยกว่าความสามารถในการผลิตที่ควรจะเป็นหรือไม่

ทำความเข้าใจกับผลผลิตส่วนเพิ่ม

สมมติว่า การทำสวนส้มมีต้นทุน 2 ชนิด คือ ที่ดิน 2 ไร่ (K) เป็นปัจจัยคงที่ในการผลิต (ในที่นี้คือการปลูกส้ม) และปัจจัยผันแปรในการผลิต คือ แรงงาน (L) โดยผลผลิตที่ได้ (จำนวนส้มที่ปลูกได้) เมื่อเพิ่มปัจจัยผันแปร (แรงงาน) จะทำให้ผลผลิตหรือจำนวนต้นของส้มที่ปลูกได้ใน 1 วันเป็นไปตามตารางด้านล่าง ดังนี้

Marginal Product คือ ผลผลิตเพิ่ม ผลิตภาพหน่วยสุดท้าย ผลผลิตส่วนเพิ่ม เศรษฐศาสตร์ Law of Diminishing Returns

โดยที่แต่ละตัวแปรมีความหมาย ดังนี้

  • K คือ ปัจจัยการผลิตคงที่ในการผลิต ในที่นี้คือปัจจัยทุนซึ่งเป็นพื้นที่ในการปลูกส้มขนาด 2 ไร่
  • L คือ ปัจจัยการผลิตผันแปรในการผลิต ในที่นี้คือแรงงานที่เป็นผู้ปลูกส้มในพื้นที่ขนาด 2 ไร่
  • ผลผลิตรวม (Total Product : TP) ที่ผลิตได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ที่ได้ในแต่ละระดับของปัจจัยการผลิต
  • ผลผลิตเฉลี่ย (Average Product : AP) คำนวณมาจาก AP = TP/L
  • ผลผลิตส่วนเพิ่ม (Marginal Product : MP) ผลผลิตที่เปลี่ยนแปลงจากการเพิ่มแรงงาน 1 หน่วย คำนวณมาจาก MP = ΔTP/ ΔL

จากตารางจะเห็นว่าเมื่อใช้แรงงานเพียงคนเดียวในการปลูกส้มจะได้ผลผลิตหรือส้มที่ปลูกได้ 3 ต้น แต่เมื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่ใช้เป็น 2 คน ผลผลิตที่ได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ต้น นั่นหมายความว่า ผลผลิตส่วนเพิ่ม หรือ Marginal Product คือ 3 หน่วย เมื่อเพิ่มแรงงาน (ปัจจัยการผลิตผันแปร) จาก 1 เป็น 2 คน

ทั้งนี้ Marginal Product จะไม่เพิ่มขึ้นอย่างคงที่ตลอดไปตามที่แสดงในตาราง กล่าวคือการเพิ่มปัจจัยการผลิตผันแปรหรือแรงงาน (L) เข้าไปเรื่อย ๆ จะไม่ได้ทำให้ทุกการเพิ่มแรงงาน 1 คนได้ผลผลิตครั้งละ 3 ต้นตลอดไป

จากตารางที่แสดง Marginal Product ด้านบน จะเห็นว่าเมื่อเพิ่มจำนวนแรงงานจาก 2 เป็น 3 คน Marginal Product จะเพิ่มขึ้น 2 หน่วยเท่านั้น

กราฟ Marginal Product คือ ผลผลิตเพิ่ม เศรษฐศาสตร์  กราฟ ผลผลิตส่วนเพิ่ม Law of Diminishing Returns

อย่างไรก็ตาม เมื่อเพิ่มจำนวนแรงงานไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งจะพบว่าการเพิ่มแรงงานจะไม่ทำให้ Marginal Product เพิ่มขึ้นอีกต่อไป ซึ่งจากในกรณีตัวอย่างคือ การเพิ่มแรงงานจาก 8 เป็น 9 คน

และเมื่อฝืนเพิ่มจำนวนปัจจัยการผลิตผันแปรเข้าไปอีกก็จะทำให้ Marginal Product เป็นลบ หรือการที่ผลผลิตส่วนเพิ่มลดลง เหมือนกับการที่เพิ่มแรงงานจาก 9 เป็น 10 คนในตัวอย่างด้านบนกลับทำให้ผลผลิตที่ผลิตได้ลดลงจาก 19 ต้นเหลือ 18 ต้น

ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Law of Diminishing Returns (กฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง) ที่อธิบายถึงการเพิ่มทรัพยากรการผลิตผันแปร (Variable Cost) เข้าสู่กระบวนการผลิตที่ในระยะแรกจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเพิ่มทรัพยากรไปถึงจุดหนึ่งผลผลิตจะไม่เพิ่มขึ้น และเมื่อเพิ่มทรัพยากรการผลิตไปเรื่อย ๆ ผลผลิตส่วนเพิ่มหรือ Marginal Product จะลดลง

โดยเหตุผลที่นำไปสู่การลดน้อยถอยลงในผลผลิตตาม Law of Diminishing Returns เกิดขึ้นจากการที่กระบวนการผลิตมีการเพิ่มปัจจัยการผลิตมากเกินไป ในที่นี้คือจำนวนแรงงานที่มากเกินไป จนทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร สั่งการ และแบ่งงานที่ยุ่งยากขึ้น จนทำให้อาจทำงานช้ากว่าที่ควรจะเป็น จนทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลง เป็นต้น

Marginal Product ในการผลิต

การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการผลิต (Input) ที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตและผลผลิต (Output) ในการผลิตระยะสั้น ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดระดับของปัจจัยการผลิต (Input) ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อที่จะได้ผลผลิต (Output) ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจจากการใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างคุ้มค่าที่สุด

จากตัวอย่างจะเห็นว่า อันดับแรกเมื่อทำความเข้าใจ Marginal Product ของการปลูกส้มจะทำให้เห็นว่าจำนวนแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตผันแปรสูงสุดที่เพิ่มเข้าไปในกระบวนการผลิต (ปลูกส้ม) ได้คือ 8 คน เพราะเมื่อเพิ่มจำนวนแรงงานจาก 8 เป็น 9 คนจะไม่ได้ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและเมื่อเพิ่มไปมากกว่านั้นผลผลิตที่ได้จะลดลงอย่างต่อเนื่องตามที่อธิบายก่อนหน้านี้

กล่าวคือ การทำความเข้าใจ Marginal Product ในการผลิตจะทำให้เจ้าของสวนส้มในตัวอย่างด้านบนรู้ถึงเพดานจำนวนต้นทุนผันแปรที่สามารถเพิ่มเข้าไปในกระบวนการผลิตโดยที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด