หน้าแรก » ธุรกิจ » Milk Run คืออะไร? ดีกว่าการขนส่งปกติอย่างไร

Milk Run คืออะไร? ดีกว่าการขนส่งปกติอย่างไร

บทความโดย safesiri
Milk Run คือ การขนส่งแบบ Milk Run โลจิสติกส์

Milk Run คือ วิธีการขนส่งที่ได้แนวคิดมาจากการส่งนม (Milk Run) ที่เวลาส่งนมในทุกเช้า คนส่งนมจะนำขวดนมเปล่ากลับมาด้วยในขากลับ (พวกขวดแก้วที่ใช้ซ้ำได้) ทำให้ขากลับรถคันดังกล่าวไม่ต้องกลับรถเปล่าให้เสียเที่ยว

สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงรถส่ง Coke หรือ Pepsi แบบฝาจีบที่ขวดแก้วต้องส่งคืน เมื่อของใหม่มาส่งรถคันนั้นก็จะนำขวดเปล่ากลับไปด้วย

ในส่วนของการขนส่งสินค้าแบบ Milk Run คือ เมื่อผลิตสินค้าเสร็จ > ส่งสินค้าออกไป > ระหว่างขากลับก็รับวัตถุดิบจาก Supplier กลับมาด้วย เพื่อนำไปผลิตสินค้าครั้งต่อไป (ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง)

ซึ่งผลที่ได้จากการนส่งในลักษณะ Milk Run ก็คือไม่ต้องขับรถเปล่ากลับบริษัทให้เสียค่าน้ำมันแบบไม่ได้ประโยชน์อะไร

การขนส่งแบบ Milk Run

ตัวอย่างรูปแบบการทำงานของ การขนส่งด้วยวิธี Milk Run ที่เริ่มจากส่งสินค้าออกไป และจบด้วยการที่ระหว่างขากลับก็รับวัตถุดิบจาก Supplier กลับมาด้วย

ตัวอย่าง Milk Run คือ การขนส่งแบบ Milk Run วิ่งนม
เส้นทางการขนส่งด้วยวิธี Milk Run

นอกจากตัวอย่างในภาพด้านบน จริงๆ แล้วการส่งสินค้าด้วยวิธี Milk Run อาจมีลูกค้าที่ต้องไปส่งมากกว่า 1 รายก็ได้

โดยอาจจะส่งสินค้าให้ลูกค้าคนที่ 1 แล้วรับวัตถุดิบจาก Supplier คนที่ 1 จากนั้นส่งสินค้าให้ลูกค้าคนที่ 2 เพื่อใช้พื้นที่ว่างรับวัตถุดิบจาก Supplier คนที่ 2 ก็ได้

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของปลายทางที่จะต้องไปส่งสินค้าและรับวัตถุดิบ

ประโยชน์ของ Milk Run

ลดต้นทุนการขนส่งในการสั่งซื้อวัตถุดิบจาก Supplier เพราะ Supplier ไม่สามารถบวกค่าส่งเข้าไปได้ เนื่องจากบริษัทส่งรถไปรับวัตถุดิบเอง

ไม่มีปัญหาการจราจรคอขวดที่หน้าโรงงาน จากการที่ต้องมีรถของ Supplier มาส่งของเต็มไปหมด ซึ่งการที่รถติดหน้าโรงงานก็จะส่งผลให้วัตถุดิบอื่นๆ มาส่งได้ช้าตามไปด้วย

ทำให้เวลาที่วัตถุดิบจะมาถึงค่อนข้างที่จะแน่นอน ซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากเหตุผลก่อนหน้า รวมกับการที่บริษัทเป็นผู้จัดการเรื่องการขนส่งเองทั้งหมด

ไม่เสียเที่ยว จากการที่ทำให้ไม่ต้องขับรถเปล่ากลับโรงงาน

ลดจำนวนสินค้าคงคลัง โดย Milk Run จะช่วยลดสินค้าคงคลัง (Inventory) จากการที่วัถุดิบสามารถมาส่งได้ในเวลาที่แน่นอน ทำให้ไม่ต้องสั่งวัตถุดิบจำนวนมากจาก Supplier มากองไว้

ข้อจำกัดของ Milk Run

ไม่สามารถใช้กับการขนส่งสิ่งที่ต้องการความเชี่ยวชาญหรือต้องระมัดระวัง อย่างเช่น สินค้าที่ต้องใช้รถแบบพิเศษในการขนส่ง สินค้าที่ผู้ขนส่งต้องมีความรู้ในการจัดการที่ถูกต้อง

Supplier ที่จะวนไปรับแต่ละแห่งควรอยู่ใกล้กันในระดับหนึ่ง เพราะถ้าหากสังเกตจากแผนภาพตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่า ถ้าหากว่าตำแหน่งที่ตั้งของแต่ละสถานที่ที่ไป ไม่เรียงอยู่ในระดับที่เหมาะสม การใช้วิธีขนส่งแบบ Milk Run จะทำให้เส้นทางการขนส่งวุ่นวายขึ้นพอสมควร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด