หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » ฟองสบู่ คืออะไร? อะไรนำไปสู่ ฟองสบู่แตก

ฟองสบู่ คืออะไร? อะไรนำไปสู่ ฟองสบู่แตก

บทความโดย safesiri
ฟองสบู่ คือ Price Bubble ภาวะ ฟองสบู่แตก คือ

ฟองสบู่ เปรียบเสมือนภาพลวงตาที่งดงาม เปราะบาง และพร้อมจะแตกสลายในพริบตา เปรียบเสมือนภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เร็วเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง ล่อตาล่อใจให้นักลงทุนแห่กันเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว

ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับ ฟองสบู่ หรือ ฟองสบู่ราคา เพื่อทำความเข้าใจพื้นฐาน กลไก และผลลัพธ์อย่างฟองสบู่แตกที่เป็นจุดสิ้นสุด

ฟองสบู่ คืออะไร?

ฟองสบู่ คือ คำอุปมาที่ใช้อธิบายถึงราคาสินทรัพย์บางอย่างที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่การเพิ่มสูงขึ้นของราคาดังกล่าวไม่มีสิ่งใดรองรับ จนมูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวขยายเพิ่มขึ้นเหมือนกับฟองสบู่ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ภายในมีเพียงอากาศ

โดยเหตุผลที่นำไปสู่การเกิด ฟองสบู่ราคา (Price Bubble) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากดีมานด์เทียม (Artificial Demand) หรือความต้องการซื้อเทียมที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการซื้อเพื่อใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดังกล่าว แต่เป็นระดับความต้องการซื้อที่เกิดขึ้นจากการซื้อเพื่อการเก็งกำไร (Speculate) บนความคาดหวังว่าขายสินทรัพย์ดังกล่าวได้ด้วยราคาแพงในอนาคต

กลไกของฟองสบู่ราคา

ตามที่อธิบายในตอนต้น ฟองสบู่ หรือ ฟองสบู่ราคา คือสิ่งที่เกิดดขึ้นจากดีมานด์เทียมที่เป็นความต้องการซื้อที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการใช้จริง ในขณะที่ตามปกติหรือ Demand ที่เกิดจากการซื้อเพื่อใช้จริงเป็นความต้องการซื้อของลูกค้าที่ต้องการสินค้าบางอย่างเพื่อใช้ประโยชน์ และด้วยความที่สินค้ามีอยู่อย่างจำกัดจึงส่งผลให้ราคาของสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามระดับความต้องการซื้อ

ดังนั้นแล้ว เมื่อยิ่งเป็นสินค้าที่มีคนต้องการซื้อ (ในขณะที่สินค้ามีจำกัด) ผู้ซื้อก็จะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ (จนกว่าจะรู้สึกไม่สมเหตุสมผล) เพื่อให้ได้สินค้านั้นมาใช้ตามความต้องการ ส่งผลให้ราคาสินค้าหรือบริการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า กลไกราคา (Price Mechanism) ที่คอยกำหนดราคาตลาด (Market Price)

กลับมาที่ดีมานด์เทียมที่เป็นความต้องการซื้อเก็บไว้เก็งกำไร ส่งผลให้ในระยะยาวเมื่อดีมานด์เทียมเพิ่มขึ้นจากการที่ใคร ๆ ก็ต้องการซื้อไปเพื่อการเก็งกำไร ระดับราคาของสินค้าของสินทรัพย์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นดีมานด์เทียมหรือดีมานด์แท้ต่างก็เป็นความต้องการซื้อที่ทำให้ระดับราคาก็จะสูงขึ้นตามกลไกของตลาด

โดยตัวอย่างของดีมานด์เทียม ที่ทำให้เกิด “ฟองสบู่” และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “ฟองสบู่แตก” หลายต่อหลายครั้ง คือ การซื้อบ้านหรือคอนโด เพื่อนำไปใช้เก็งกำไร ไม่ได้ซื้อเพื่อใช้เข้าพักอาศัยจริง

ฟองสบู่แตก คือ สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ลำดับถัดมาเราต้องเข้าใจกันก่อนว่าโดยพื้นฐานของนักลงทุนที่มีแนวคิดในการเก็งกำไรมักจะมาจากแนวคิดเหล่านี้ และเพื่อให้คุณสามารถคิดภาพตามเราจะใช้ตัวอย่างของกรณีราคาบ้านต่อไป

  1. คนต้องมีที่อยู่อาศัย ยังไงคนก็ต้องซื้อบ้าน
  2. ความเชื่อบ้านก็มีแต่ราคาเพิ่มขึ้น ซื้อไว้ยังไงก็กำไร
  3. บางครั้งข้อ 2 จะมีเหตุผลจากข้อ 1 มาหนุนซ้ำ

ด้วยแนวคิดเหล่านี้ นักเก็งกำไรจึงซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็บไว้เก็งกำไร เมื่อเกิดการซื้อก็จะส่งผลให้ตัวเลขยอดขายออกมาดูดี จนดูเหมือนมีความต้องการจากตลาดและดูเหมือนคนทั่วไปกำลังจะซื้อบ้าน ทั้งที่ตัวเลขที่ดูดีจำนวนไม่น้อยเกิดจากนักเก็งกำไรที่ซื้อหรือผ่อนอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นคนละหลังสองหลัง (หรือมากกว่านั้น) เพื่อรอวันที่จะสามารถขายออกไปได้ในราคาที่คาดว่าจะดีตามที่พวกเขาคาดหวัง ตรงนี้เองที่เป็นสิ่งที่ค่อย ๆ ขยายฟองสบู่ของราคาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นไปเรื่อย ๆ

แต่ในระยะยาวเมื่อความต้องการซื้อเทียมเหล่านี้เพิ่มขึ้น ระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์ก็จะเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด

ผลที่ตามมาคือส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฟองสบู่ราคา กลุ่มแรกก็ คือ ผู้ที่ต้องการซื้อสินค้านั้นไปใช้งานจริงที่จะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อความต้องการเทียมดันราคาอสังหาริมทรัพย์จนเกินระดับที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มองว่าสมเหตุสมผล ผู้ซื้อที่ต้องการซื้อจริง ๆ ก็จะหยุดซื้อ หรืออีกกรณีคือผู้ที่ต้องการไม่สามารถซื้อได้เพราะราคาไกลเกินเอื้อม

ในลำดับสุดท้าย เมื่อความต้องการซื้อที่แท้จริงของผู้ใช้หมดไปเนื่องจากไม่สามารถซื้อได้อีกต่อไป และ/หรือมีสิ่งใดมากระทบสภาพคล่องของคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้เก็งกำไร ผู้ที่เก็งกำไรเหล่านั้นก็จำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์ที่เก็งกำไรออกมา

และเมื่อถึงจุดที่ความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อราคาของสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะลดลงอย่างมากไปเรื่อย ๆ จนกว่าความต้องการซื้อจะมากกว่าความต้องการขายอีกครั้ง เราเรียกเหตุการณ์ในลักษณะนี้ว่า “ฟองสบู่แตก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด