หน้าแรก » ธุรกิจ » Risk Matrix คือ อะไร? ตารางความเสี่ยงใช้งานอย่างไร

Risk Matrix คือ อะไร? ตารางความเสี่ยงใช้งานอย่างไร

บทความโดย safesiri
Risk Matrix คือ อะไร ตารางความเสี่ยง คือ ตัวอย่าง

Risk Matrix คือ ตารางความเสี่ยงที่ใช้เป็นเครื่องมือประเมินระดับความเสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยด้านโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและความรุนแรงจากผลของความเสี่ยงหากเกิดขึ้นในแต่ละปัจจัย เพื่อจัดลำดับความรุนแรงความเสี่ยงที่องค์กรเผชิญในการบริหารความเสี่ยง

การใช้ Risk Matrix ในการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) จะเกิดขึ้นหลังจากองค์กรได้ทำการระบุความเสี่ยงที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานในขั้น Risk Identification เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยเลือกวิธีการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจจัยต่อไป

ตาราง Risk Matrix คืออะไร?

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ด้วย Risk Matrix จะเป็นการนำความเสี่ยงแต่ละความเสี่ยงที่ได้ระบุเอาไว้ในขั้นตอน Risk Identification มาเปรียบเทียบกับ โอกาสเกิดความเสี่ยง (Likelihood) และ ผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) ในรูปของตารางหรือกราฟ 2 แกน ซึ่งแต่ละแกนจะระบุระดับความรุนแรงของคะแนนแต่ละประเภท

สำหรับองค์ประกอบของ Risk Matrix ในแต่ละส่วนจะมีความหมาย ดังนี้

  • โอกาสเกิดความเสี่ยง (Likelihood) หมายถึง ความถี่หรือโอกาสที่เหตุการณ์ความเสี่ยงจะเกิดขึ้น
  • ผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) หมายถึง ระดับของความรุนแรงหรือขนาดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เมื่อเหตุการณ์ความเสี่ยงเกิดขึ้น
  • ระดับความเสี่ยง (Degree of Risk) หมายถึง ระดับความเสี่ยงที่ได้จากประเมินโอกาสและผลกระทบ
ตัวอย่าง Risk Matrix แบบ 5 x 5 ในรูปแบบของตาราง

ในบทความนี้เราจะใช้ตัวอย่าง Risk Matrix แบบ 5X5 ซึ่งแต่ละปัจจัยในการประเมินความเสี่ยงด้วยตาราง Risk Matrix จะแบ่งคะแนนโอกาสในการเกิดความเสี่ยง (Likelihood) และผลจากความเสี่ยง (Impact) ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำมาก ระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับสูงมาก โดยให้คะแนน 1 ถึง 5 คะแนนตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อนำ Risk Matrix ไปใช้จริงคุณอาจใช้เลขระดับคะแนนและความละเอียดของ Scale คะแนนตามความเหมาะสมของสิ่งที่กำลังประเมินความเสี่ยงที่อาจมีความซับซ้อนที่ต่างกัน

ระดับความเสี่ยงจาก Risk Matrix บอกอะไร

ระดับความเสี่ยง (Degree of Risk) ในตาราง Risk Matrix คือ สิ่งที่สะท้อนความรุนแรงของความเสี่ยงแต่ละปัจจัย เมื่อประเมินจากโอกาสเกิดความเสี่ยง และผลกระทบจากความเสี่ยงจากความเสี่ยงต่ำที่สุดไปสู่ความเสี่ยงสูงที่สุด

โดยอาจใช้วิธีการคำนวณคะแนนความเสี่ยงใน Risk Matrix ด้วยการบวกหรือการคูณคะแนนของทั้ง 2 ปัจจัยออกมาเป็นคะแนนความเสี่ยง เพื่อนำคะแนนดังกล่าวไปเปรียบเทียบว่าคะแนนของความเสี่ยงในปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงระดับใด

ซึ่งช่วงคะแนนความเสี่ยงของ Risk Matrix อาจแตกต่างกันไปในแต่ผู้ประเมินความเสี่ยงและปัจจัยต่าง ๆ ขององค์กรหรือสิ่งที่กำลังประเมินความเสี่ยง

จากตัวอย่าง Risk Matrix แบบ 5X5 จะมีช่วงคะแนนความเสี่ยง 4 ระดับ ดังนี้

  • ความเสี่ยงต่ำ (ระดับ 1-2 คะแนน) เป็นระดับความเสี่ยงที่รับได้ และแทบไม่ส่งผลใด ๆ
  • ความเสี่ยงปานกลาง (ระดับ 3-9 คะแนน) เป็นระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ อาจส่งผลกระทบแต่ไม่ร้ายแรง
  • ความเสี่ยงสูง (ระดับ 10-19 คะแนน) มักเป็นความเสี่ยงที่โอกาสเกิดสูงแต่ความรุนแรงต่ำ หรือมีความรุนแรงสูงแต่เกิดขึ้นได้ยาก
  • ความเสี่ยงสูงมาก (ระดับ 20 คะแนนขึ้นไป) เป็นระดับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่มีผลรุนแรงอีกทั้งยังเกิดขึ้นได้ง่าย

Risk Matrix กับการบริหารความเสี่ยง

ผลจาก Risk Matrix เป็นสิ่งที่บอกถึงความรุนแรงและระดับความสำคัญของความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประเมินความเสี่ยงทราบได้ว่าต้องจัดการกับความเสี่ยงของปัจจัยเสี่ยงใดก่อนและจะบริหารความเสี่ยงด้วยกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงใด

ในเบื้องต้น วิธีจัดการความเสี่ยงหากพิจารณาจากผลการวิเคราะห์ Risk Matrix จะแบ่งได้เป็น 4 กลยุทธ์บริหารความเสี่ยงเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยง (Risk Response) ดังนี้

  • การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) เป็นกลยุทธ์การยอมรับความเสี่ยงไม่ทำอะไรกับความเสี่ยงเนื่องจากไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่อาจใช้กลยุทธ์ร่วมลงทุนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแชร์ความเสี่ยง (Risk Sharing) ที่เกิดขึ้นได้
  • การลดความเสี่ยง (Risk Control) เป็นการควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงลุกลามเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นซึ่งนำไปสู่ปัญหาในอนาคต โดยการกำจัดความเสี่ยง (Risk Elimination) หรือลดความเสี่ยง (Risk Reduction)
  • การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) เป็นการเลี่ยงทางเลือกที่นำไปสู่ความเสี่ยงที่พบว่าอาจจะเกิดขึ้นเมื่อเลือก เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงเกิดขึ้น
  • การถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) เป็นการโอนความเสี่ยงไปสู่บุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นวิธีจัดการความเสี่ยงที่คุ้นเคยกันในรูปแบบขอการประกันภัย (Insurance)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด