หน้าแรก » ธุรกิจ » Six Sigma คืออะไร? การปรับปรุงคุณภาพด้วย 6 Sigma

Six Sigma คืออะไร? การปรับปรุงคุณภาพด้วย 6 Sigma

บทความโดย safesiri
Six Sigma คือ อะไร 6 Sigma คือ การควบคุมคุณภาพ Lean Six Sigma คือ

Six Sigma คืออะไร?

Six Sigma คือ แนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) และปรับปรุงกระบวนการการผลิตอย่างต่อเพื่อทำให้การผลิตเกิดความผิดพลาดหรือของเสียในการผลิตน้อยที่สุด ซึ่งตามแนวคิด Six Sigma ใน Sigma ระดับที่ 6 คือการผลิตที่มีความผิดพลาดไม่เกิน 3.4 ชิ้นต่อการผลิตหนึ่งล้านชิ้น (DPMO)

หลักการของ Six Sigma คือการบริหารงานโดยการมุ่งเน้นในการลดความสูญเปล่าจากการผลิต (Waste) ที่เกิดมาจากความผิดพลาดในการผลิตด้วยการค้นหาปัญหาเพื่อปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องตามหลัก DMAIC (Define, Measure, Analyse, Improve, และ Control) เพื่อลดความสูญเปล่าให้น้อยที่สุดและนำไปสู่ความเป็นเลิศ

ทำให้ประโยชน์ของการควบคุมคุณภาพตามหลัก Six Sigma และ Lean Six Sigma (ที่นำ Lean มารวมกับ Six Sigma) คือการที่สามารถผลิตได้เร็วขึ้นและต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดพลาดในการผลิตที่ลดลงจากทุกส่วนงานที่ใช้แนวคิด Six Sigma เข้าไปปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับที่มาของแนวคิด Six Sigma มาจากการควบคุมคุณภาพที่พัฒนาขึ้นโดยวิศวกรของบริษัท Motorola ในปี ค.ศ. 1986 (หรือ พ.ศ. 2533) และประสบความสำเร็จจนหลายบริษัทเริ่มนำทฤษฎี Six Sigma มาใช้ตามกันอย่างแพร่หลายหลังจากนั้น (ตลอดจนการถูกกลืนเข้าไปกับแนวคิด Lean เนื่องจากมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกัน)

Sigma หรือ ซิกม่า เป็นสิ่งที่น่าจะเคยผ่านตากันมาบ้างในวิชาสถิติหรือวิชาคณิตศาสตร์มัธยมปลาย โดยตารางด้านล่างเกิดจากการสมมติให้การกระจายเป็นรูประฆังคว่ำทั้งหมด และค่าเฉลี่ยที่จุดกึ่งกลางของการกระจายค่าที่ต้องการ ซึ่งซิกมา (Sigma) คือความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ที่วัดจากจุดกึ่งกลาง

ในกรณีของ Six Sigma หากขอบบนและล่างอยู่ห่างจากค่าเฉลี่ยเป็นระยะ 3 ซิกมาจะเรียกว่า ระดับ 3 ซิกมา (3 Sigma Level) และในกรณีที่เป็นระยะ 6 ซิกมา ก็จะเรียกว่าระดับ 6 ซิกมา (6 Sigma Level) โดยในแต่ละระดับ Sigma ทั้งหมด 6 Sigma จะมีค่าดังนี้

Six Sigma คือ ตาราง 6 Sigma คือ การผลิต SD ซิกม่า
ค่า Sigma ในแต่ละระดับที่เป็นที่มาของ Six Sigma

DPMO หมายถึง จำนวนการผลิตของเสียต่อการผลิตหนึ่งล้านครั้งหรือหนึ่งล้านชิ้น ย่อมาจาก Defects Per Million Opportunities

จากตารางจะเห็นว่าที่ 6 Sigma หรือ Six Sigma DPMO หรือ ความผิดพลาดต่อการผลิตล้านครั้งจะอยู่ที่ 3.3976731335 หรือ 3.4 ครั้ง ซึ่งก็คือจำนวนความผิดพลาดสูงสุด 3.4 ครั้งต่อการผลิตล้านครั้งตามที่อธิบายไว้ในตอนแรกสุดนั่นเอง

DMAIC คืออะไร?

ในตอนต้นเราได้กล่าวถึง DMAIC เอาไว้ว่าเป็นกระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ของการลดความผิดพลาดในการผลิตตามแนวคิด Six Sigma ซึ่งกระบวนการ DMAIC จะประกอบด้วยขั้นตอนตามลำดับดังนี้

  1. Define (ระบุปัญหา)
  2. Measure (การวัด)
  3. Analyse (การวิเคราะห์หาปัญหา)
  4. Improve (การปรับปรุง)
  5. Control (การควบคุม)

จะเห็นว่า DMAIC ของ Six Sigma เป็นขั้นตอนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ที่เหมือน ๆ กับเครื่องมือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอื่น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ Six Sigma เป็นแนวคิดที่ถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องที่มีความ Original และไม่ได้แตกต่างอะไรจากเครื่องมืออื่น ๆ จนทำให้ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง และมักจะถูกนำไปรวมกับ Lean เนื่องจากมีบางสิ่งที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน

Define

Define คือ ขั้นตอนแรกสุดของกระบวนการ DMAIC เป็นการระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไขเพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการการผลิต พร้อมกับเหตุผลว่าทำไมจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดยการระบุปัญหาอาจมาจากความต้องการของลูกค้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผลิต และความผิดพลาดในการผลิตที่ได้เก็บสถถิติเอาไว้ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ลูกค้าซื้อไปไม่สมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องการคือการลดความผิดพลาดในการผลิตที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว และปัญหาการส่งสินค้าให้กับลูกค้าล่าช้าทำให้มีการรายงานปัญหาการส่งช้ามาจากลูกค้าเป็นจำนวนมากต่อเดือน

Measure

Measure คือ การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อการวัดผลสิ่งที่เกิดขึ้นและทำการวัดผลในเชิงปริมาณ กล่าวคือ ต้องวัดเป็นตัวเลขให้ได้ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการหาสาเหตุของปัญหาในขั้นตอนต่อไปของ DMAIC

ตัวอย่างเช่น ปัญหาความล่าช้าในการส่งสินค้าที่เกิดขึ้นคือใช้เวลาในการส่งสินค้าเฉลี่ย 19 นาทีในเดือนที่แล้ว โดยระยะเวลาที่รับปากเอาไว้กับลูกค้า 15 นาที

Analyze

Analyze คือ การนำข้อมูลที่ได้จากขั้น Measure มาค้นหาต้นตอของปัญหาว่าเกิดมาจากอะไร โดยในส่วนนี้อาจจะวิเคราะห์หาสาเหตุจากแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ด้วยเครื่องมือ อย่างเช่น 5M Model หรือ Why Why Analysis ก็ได้เพื่อวิเคราะห์ว่าปัญหามาจากส่วนงานใดจากทั้ง 5 ส่วน ได้แก่

  1. Manpower หรือ ปัญหาจากพนักงาน
  2. Machine หรือ ปัญหาจากเครื่องจักร
  3. Material หรือ ปัญหาจากวัตถุดิบในการผลิต
  4. Method หรือ ปัญหาจากวิธีการดำเนินงาน
  5. Management หรือ ปัญหาจากการบริหารจัดการ

จากตัวอย่างเดิม ปัญหาการส่งสินค้าล่าช้าอาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับพนักงานส่งสินค้าที่ไม่คุ้นเคยกับเส้นทางในการส่งสินค้า

Improve

Improve คือ การปรับปรุงหรือการแก้ปัญหาโดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นที่พบในขั้น Analyse (จากตัวแปรที่ทำให้เกิดปัญหา) โดยการแก้ปัญหาอาจเริ่มจากการสร้างตัวเลือกหลายทางในการแก้ปัญหาเพื่อเลือกทางออกที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้จริง

จากปัญหาความล่าช้าในการส่งสินค้า อาจแก้ปัญหาได้โดยทดลองใช้เส้นทางใหม่หลายเส้นทางเพื่อค้นหาว่าเส้นทางใดเร็วที่สุด เพื่อเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดนำไปใช้เป็นมาตรฐานในการส่งสินค้าให้ทันเวลา

Control

Control คือ การนำกระบวนการใหม่ที่ไม่เกิดปัญหาไปใช้แทนที่วิธีเดิมที่เป็นปัญหา พร้อมกับติดตามผลว่าสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

จากตัวอย่างปัญหาการส่งสินค้า เมื่อพบแล้วว่ามีเส้นทางที่สามารถส่งสินค้าได้ในระยะเวลา 15 นาทีจากการทดลองหลายๆ เส้นทางจากขั้นตอนที่แล้ว ในขั้นนี้ก็คือการระบุเส้นทางที่ชัดเจนในกับพนักงานส่งสินค้าว่าจะต้องใช้เส้นทางนี้หลังจากนี้เป็นหลัก

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด