หน้าแรก » ธุรกิจ » Source of Power คืออะไร? เข้าใจ 6 แหล่งที่มาของอำนาจ

Source of Power คืออะไร? เข้าใจ 6 แหล่งที่มาของอำนาจ

บทความโดย safesiri
Sources of Power คือ แหล่ง ที่มาของอำนาจ Source of Power Bertram Raven John French ผู้นำ เจรจา

Source of Power คือ แนวคิดเกี่ยวกับที่มาของอำนาจของผู้นำ โดยแหล่งที่มาของอำนาจ (Source of Power) ที่ทำให้บุคคลที่เป็นผู้นำมีอำนาจจะมาจาก 6 ส่วน ได้แก่ Legitimate Power, Reward Power, Coercive Power, Referent Power, Expert Power, และ Informational Power

โดยแนวคิดเกี่ยวกับ Sources of Power หรือ แหล่งที่มาของอำนาจ เป็นแนวคิดที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1959 โดย Bertram Raven และ John French ในงานของเขาที่มีชื่อว่า “The Bases of Social Power” ซึ่งเริ่มต้นจาก 5 แหล่งที่มาของอำนาจ ได้แก่ Legitimate Power, Reward Power, Coercive Power, Referent Power, และ Expert Power ก่อนที่จะมีการเพิ่ม Informational Power เข้ามาภายหลังในปี 1965 เป็นแหล่งที่มาของอำนาจลำดับที่ 6

สำหรับความหมายของทั้ง 6 Source of Power หรือ แหล่งที่มาของอำนาจทั้ง 6 มีความหมาย ดังนี้

  1. Legitimate Power คือ อำนาจของผู้นำที่เกิดมาตามอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งของผู้นำแต่ละคน
  2. Reward Power คือ อำนาจที่มาจากความสามารถในการให้รางวัลของผู้นำ
  3. Coercive Power คือ อำนาจที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎควบคุม
  4. Referent Power คือ อำนาจที่เกิดจากความสัมพันธ์ของผู้นำกับผู้ตาม
  5. Expert Power คือ อำนาจของผู้นำที่มาจากความสามารถเฉพาะทาง
  6. Informational Power คือ อำนาจที่ได้รับมาจากการควบคุมข้อมูลบางอย่าง

จากแหล่งที่มาของอำนาจของผู้นำทั้ง 6 แหล่ง ยังได้มีการนำไปวิจัยเพิ่มเติมอีกมากมายโดยมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิด Sources of Power หรือ The Bases of Power ของ Bertram Raven และ John French อย่างเช่นการจัดกลุ่มที่มาของอำนาจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแหล่งที่มาของอำนาจที่สำคัญ (Important) ที่ทำให้มีอำนาจควบคุมได้อย่างแน่นอน และกลุ่มแหล่งที่มาของอำนาจที่สำคัญ (Unimportant) ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีก็สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับที่มาของ Bertram Raven และ John French จะถูกนำไปใช้อธิบายที่มาของอำนาจของผู้นำเพื่อทำความเข้าใจอำนาจที่ตนมีและใช้ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชา แต่นอกจากนั้น แนวคิดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอำนาจยังสามารถนำไปใช้กับการเจรจาต่อรองเพื่อทำความเข้าใจข้อได้เปรียบที่ผู้เจรจามีอยู่ได้ด้วยเช่นกัน

Legitimate Power

Legitimate Power คือ อำนาจของผู้นำที่เกิดมาตามอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งของผู้นำแต่ละคน ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นหัวหน้าแผนก Marketing ดังนั้นนาย A จึงมีอำนาจที่จะสั่งพนักงานที่อยู่ในแผนก Marketing ในทางกลับกันนาย A ก็จะไม่มีอำนาจที่จะสั่งพนักงานในแผนกอื่น และผู้บริหารที่อยู่ในระดับสูงกว่า นอกจากนี้ อำนาจที่ติดตัวทายาทของผู้นำประเทศก็นับว่าเป็น Legitimate Power เช่นกัน

โดย Legitimate Power เป็นแหล่งที่มาของอำนาจที่เป็นพื้นฐานที่สุดของผู้นำในทุกองค์กร เพราะ Legitimate Power คืออำนาจที่มีติดตัวผู้นำแต่ละคนอยู่แล้ว แต่จะมีมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับว่าผู้นำคนนั้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงมากแค่ไหน

Reward Power

Reward Power คือ อำนาจที่มาจากความสามารถในการให้รางวัลของผู้นำ ที่เกิดขึ้นจากการใช้รางวัลที่เป็นเงินหรือไม่ใช่เงินเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทำตามคำสั่งที่ผู้นำมอบหมาย ตลอดจนใช้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พนักงานทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้น อย่างในกรณีของโบนัส

ตัวอย่างของ Reward Power ได้แก่ เงินรางวัล การให้วันหยุดเพิ่ม การให้โบนัส การเพิ่มเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น

Coercive Power

Coercive Power คือ อำนาจที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎเกณฑ์ในการควบคุม การใช้ Coercive Power จะเป็นด้านตรงข้ามกับ Reward Power ที่เป็นการจูงใจด้วยผลประโยชน์ เนื่องจากจะเป็นการใช้ความกลัวในการควบคุมให้พนักงานปฏิบัติตามคำสั่งที่ต้องการ

อย่างเช่น การที่หัวหน้ามีสิทธิในการไล่พนักงานออกเมื่อพนักงานทำผิดกฎร้ายแรง และการลงโทษพนักงานที่ไม่ทำงานให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้

Referent Power

Referent Power คือ แหล่งที่มาของอำนาจที่เกิดจากความสัมพันธ์ของผู้นำที่ทำให้คนในองค์กรยอมทำตามคำสั่งของผู้นำ อย่างเช่น ความชอบ ความเคารพในตัวของผู้นำ และบุคลิกที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

กล่าวคือ ผู้นำที่มีคนรักเยอะคือผู้นำมี Referent Power สูง ในขณะที่ผู้นำที่มีแต่คนเกลียดหรือไม่ชอบคือผู้นำที่มี Referent Power ต่ำนั่นเอง ซึ่ง Referent Power เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นโดยตัวของผู้นำเอง ไม่ได้เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่เหมือนกับ 3 ปัจจัยก่อนหน้า ทำให้ผู้นำแต่ละคนอาจจะมีอำนาจจาก Referent Power ที่ไม่เท่ากันหรือไม่มีเลยก็ได้

Referent Power เป็นที่มาอำนาจที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ผู้นำจะมีหรือไม่ก็ได้ (Unimportant Power) ต่างจาก Legitimate Power, Reward Power, และ Coercive Power เนื่องจาก ไม่ว่าผู้นำจะมีหรือไม่มีความสัมพันธ์งานก็จะยังคงสามารถเสร็จลุล่วงได้

Expert Power

Expert Power คือ อำนาจของผู้นำที่มาจากความสามารถเฉพาะทางบางอย่าง ซึ่ง Expert Power จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามผู้นำได้จากการที่พวกเขาเหล่านั้นเชื่อในความสามารถของตัวผู้นำคนดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นหัวหน้าแผนกการตลาดและการขาย โดยนาย A ได้สอนทริคในการขายปิดการขายให้กับ B ที่เป็นเซลส์ที่อยู่ในแผนก ซึ่งเมื่อ B นำไปใช้แล้วได้ผลจริง ทำให้ B เชื่อและเคารพในความสามารถของนาย A

Expert Power เป็นที่มาอำนาจที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ผู้นำจะมีหรือไม่ก็ได้ (Unimportant Power) เนื่องจากไม่ว่าผู้นำจะมีหรือไม่มีความเฉพาะทางบางอย่าง หรือจะมีใครเชื่อหรือไม่เชื่อความสามารถ หากผู้นำที่ไม่มี Expert Power มีอำนาจในกลุ่ม Important Power ก็จะยังคงสั่งการให้งานเสร็จสิ้นได้อยู่ดี

Informational Power

Informational Power คือ อำนาจของผู้นำที่ได้รับมาจากการควบคุมข้อมูลบางอย่างอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อีกฝ่ายที่ผู้นำต้องการสั่งการต้องการข้อมูลนี้ ทำให้ Informational Power เป็นอำนาจระยะสั้นที่จะหมดอำนาจทันทีที่อีกฝ่ายรู้หรือไม่ต้องการข้อมูลนั้นแล้ว โดย Informational Power เป็นแหล่งที่มาของอำนาจลำดับที่ 6 ที่เพิ่มเข้ามาภายหลังโดย Bertram Raven ในปี 1965

ตัวอย่างเช่น เมื่อ A ถาม B และ B ตอบว่าให้ไปถาม C เพราะเป็นคนเดียวที่รู้วิธี ณ เวลานั้นคือการที่ Informational Power ของ C เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีที่เป็นวิธีการบางอย่าง B มีโอกาสสูงจะเชื่อและปฏิบัติตามที่ C บอก เนื่องจากไม่มีคนอื่นรู้วิธีที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม Informational Power มักจะเป็นแหล่งอำนาจที่สำคัญทั้งในแง่ของการเจรจาต่อรองในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบางอย่าง มากกว่าการใช้เป็นอำนาจในการสั่งการของผู้นำ และเช่นเดียวกันกับ Referent Power และ Expert Power ที่เป็นอำนาจที่ผู้นำจะมีหรือไม่มีก็ได้ (Unimportant Power)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด