หน้าแรก » การลงทุน » การกระจายความเสี่ยง คืออะไร? วิธีกระจายความเสี่ยงทำยังไง

การกระจายความเสี่ยง คืออะไร? วิธีกระจายความเสี่ยงทำยังไง

บทความโดย safesiri
การกระจายความเสี่ยง คือ วิธีกระจายความเสี่ยง การลงทุน Diversification คือ กลยุทธ์ การกระจายความเสี่ยง

การกระจายความเสี่ยง คือ กลยุทธ์การลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงของการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นคือ กระจายความเสี่ยง (Diversification) เพื่อลดความเสียหายเมื่อขาดทุนอย่างมากจากการลงทุนในสิ่งเดียว

กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง คือกลยุทธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “การลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง” ดังนั้นการที่ลงทุนในอะไรซักอย่าง ก็จะมีโอกาสที่เราจะขาดทุนจากการลงทุนนั้น ทำให้กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในกับการลงทุนทุกประเภท

จุดประสงค์ของ การกระจายความเสี่ยง (Diversification) คือการทำให้พอร์ทการลงทุนไม่ขาดทุนเต็ม ๆ จากการลงทุนใดการลงทุนหนึ่ง เพราะการขาดทุนที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระจายความเสี่ยงจะทำให้ผลขาดทุนไม่ส่งผลกับพอร์ทการลงทุนทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น กรณีที่คุณลงทุนหุ้น A ด้วยเงินทั้งหมด 100,000 บาทแล้วหุ้นนั้นราคาลดลง 30% นั่นหมายความว่าคุณจะขาดทุน 30% หรือเงินหายไป 30,000 บาท

ในขณะที่ถ้าหากคุณกระจายความเสี่ยงด้วยการแบ่งเป็นเงินเป็นสองส่วนโดยลงทุนในหุ้นครึ่งหนึ่งและลงทุนในทองคำอีกครึ่งหนึ่ง การที่หุ้นราคาลดลง 30% หมายความว่าจะขาดทุนจากหุ้นเพียง 15% หรือ 15,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่ทองคำอาจขาดทุนน้อยกว่า ไม่ทำกำไร หรือทำกำไร แต่โดยรวมการกระจายความเสี่ยงจะทำให้การขาดทุนโดยรวมน้อยกว่ากรณีแรก

การกระจายความเสี่ยงเหมาะกับใคร

กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง คือ กลยุทธ์สามารถทำได้ในการลงทุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ไปจนถึงการทำธุรกิจหรือแม้กระทั่งการฝากเงินกับธนาคาร ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดการเงินเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าการกระจายความเสี่ยง (Diversify) จะเหมาะกับการลงทุนทุกรูปแบบ เพราะกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมีข้อด้อยที่เป็นเงาตามตัว ได้แก่:

1) ทำให้กำไรโดยรวมน้อย (เหมือนกับการทำให้การขาดทุนโดยรวมน้อย) ส่งผลให้กำไรโตช้ากว่าการเลือกลงทุนเพียงอย่างเดียวแล้วทำกำไรได้

2) ค่อนข้างที่จะไม่เหมาะกับพอร์ทการลงทุนที่ขนาดเล็ก เพราะจะทำให้มีปัญหาสภาพคล่องและมีปัญหากำไรจากข้อแรก ทำให้พอร์ทการลงค่อนข้างที่จะโตช้า (แต่ถ้ารับได้ก็ไม่ใช่วิธีที่แย่ เพราะขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน)

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้การกระจายความเสี่ยง คือกลยุทธ์ที่ค่อนข้างจะเหมาะกับลักษณะการลงทุนที่เป็นพอร์ทการลงทุนมูลค่าสูงหรือบริษัทขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถนำเงินทุนก้อนใหญ่มาก ๆ มาเดิมพันกับการลงทุนเพียงอย่างเดียวได้

วิธีกระจายความเสี่ยง

วิธีการกระจายความเสี่ยง คือ แนวคิดที่มีพื้นฐานในการกระจายการลงทุน (Diversification) ออกไปในการลงทุนหลายรูปแบบ แทนที่จะลงทุนแบบเดียวหรือเพียงประเภทเดียว

โดยการกระจายจะอยู่บนเงื่อนไข คือ ควรเป็นการลงทุนในธุรกิจหรือหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และควรกระจายการลงทุนไปยังต่างอุตสาหกรรมกันหรือจับกลุ่มเป้าหมาย (Target) คนละกลุ่มเป้าหมายกัน

เนื่องจาก ตามปกติปัจจัยภายนอกมักจะไม่ส่งผลกับทุกภาคส่วน (แม้แต่ COVID-19 ก็ยังมีบางอาชีพที่รอด ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ) ทำให้การกระจายความเสี่ยงไปยังสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันโดยส่วนใหญ่จะทำให้พอร์ทการลงทุนไม่ขาดทุนทั้งหมด

ตัวอย่างการกระจายความเสี่ยงแบบแย่ เช่น กระจายความเสี่ยงด้วยการซื้อหุ้นมากกว่า 3 บริษัท แต่หุ้นที่ซื้อได้แก่ PTT, PTTEP, และ PTTGC ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มน้ำมันทั้งหมดและอยู่ในเครือของปตท. ทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าหุ้นเหล่านี้มักจะมีทิศทางราคาหุ้นในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว

สำหรับวิธีการกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุน สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่ กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่น กระจายการลงทุนในสินทรัพย์เดียวกัน และกระจายการลงทุนไปในตลาดอื่น

กระจายการลงทุนในสินทรัพย์เดียวกัน

กระจายการลงทุนในสินทรัพย์เดียวกัน คือ การกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องระหว่างกัน

ตัวอย่างเช่น การเลือกลงทุนในหุ้นในหลายอุตสาหกรรม แทนที่จะใช้เงินลงทุนทั้งหมดในการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารเพียงอย่างเดียว

กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่น

กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่น คือ การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนที่แบ่งเงินลงทุนออกไปในหลายสินทรัพย์ (และควรเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน)

ตัวอย่างเช่น ปกติลงทุนในหุ้นสามัญเพียงอย่างเดียว แต่แบ่งเงินลงทุนจำนวนหนึ่งกระจายไปลงทุนในตราสารหนี้ (Debt Instrument) ด้วย

กระจายการลงทุนไปในตลาดอื่น

การกระจายการลงทุนไปในตลาดอื่น คือ การกระจายเงินลงทุนไปในตลาดอื่นหลายตลาด อย่างเช่น การกระจายไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ โดยอาจจะเป็นสินทรัพย์เดียวกันหรือสินทรัพย์ที่ต่างกันกับการลงทุนตามปกติก็ได้

ตัวอย่างเช่น การลงทุนทั้งในตลาดหุ้น SET ของไทยพร้อมกับการลงทุนในตลาดหุ้น NYSE ของสหรัฐอเมริกา หรือในกรณีของธุรกิจเช่น การใช้สินค้าเดิมที่มีอยู่ส่งออก หรือเข้าไปลงทุนจับลูกค้าใหม่ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระจายการลงทุนสำหรับการลงทุนในธุรกิจได้จากบทความ กลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) คืออะไร?

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด