หน้าแรก » ธุรกิจ » Blue Ocean Strategy คือ อะไร ? รู้จักกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม

Blue Ocean Strategy คือ อะไร ? รู้จักกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม

บทความโดย safesiri
Blue Ocean Strategy คือ กลยุทธ์ น่านน้ำสีคราม คือ กลยุทธ์ Blue Ocean คือ ตัวอย่าง ทฤษฎี ERRC

Blue Ocean Strategy คือ กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่มีแนวคิดในการหลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดจากการที่เป็นตลาดที่มีคู่แข่งภายในอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกลยุทธ์น่านน้ำสีครามหรือ Blue Ocean Strategy จะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาตลาดใหม่ที่มีการแข่งขันต่ำ

สำหรับประโยชน์ของกลยุทธ์ Blue Ocean Strategy คือสิ่งที่ต้องเท้าความไปที่ Red Ocean ที่หมายถึง ตลาดที่มีการแข่งขันสูงเพราะมีคู่แข่งอยู่เป็นจำนวนมากและความแตกต่างของสินค้าอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้บริษัทเหล่านี้มักจะแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นและการตัดราคา

ซึ่งการแข่งกันจัดโปรโมชั่น (Promotion) อย่างดุเดือดโดยเฉพาะการตัดราคาจะส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างเจ็บตัวจากกำไรที่ลดลง เทียบได้กับการนองเลือดจากการแข่งขันที่รุนแรงจนทำให้ทะเลกลายเป็นสีเลือด (Red Ocean) กลับกัน Blue Ocean คือน่านน้ำสีครามแสนสดใสที่ไม่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ทำให้ธุรกิจสามารถแสวงหาโอกาสเพื่อทำกำไรได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีใครมาแย่งส่วนแบ่ง

กล่าวคือ กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม หรือ Blue Ocean Strategy เป็นเรื่องของการแสวงหาตลาดใหม่ที่มียังไม่มีใครบุกเบิก อย่างเช่น สินค้า/บริการที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อที่ธุรกิจจะได้ไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด

โดยแนวคิดของกลยุทธ์ Blue Ocean Strategy เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ W. Chan Kim และ Renee Mauborgne ซึ่งเป็นอาจารย์จาก INSEAD (อินซีด) สถาบันทางด้านบริหารธุรกิจจากฝรั่งเศส ซึ่งถูกตีพิมพ์อยู่ใน Harvard Business Review เมื่อปี 2004 และตีพิมพ์ในหนังสือในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2004 และ 2014

Blue Ocean Strategy ทำอย่างไร

แนวคิดของ Blue Ocean Strategy คือการมุ่งเน้นไปที่การสร้างความต้องการขึ้นมาใหม่และไม่เน้นการตอบสนองอุปสงค์เดิมที่มีอยู่ (เรียกว่า Demand Creation) โดยไม่สนใจการแข่งขันกับคู่แข่งเดิมที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม

กล่าวคือ แนวคิดของ Blue Ocean Strategy จะเป็นการปฏิเสธการมุ่งไปที่การทำตามและเอาชนะคู่แข่งเดิมที่มีอยู่ แต่มุ่งไปที่การสร้างความต้องการขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา หรือการตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่ยังไม่เคยมีใครตอบสนองมาก่อนด้วยแนวคิด ERRC สำหรับการแสวงหา Blue Ocean

หลัก ERRC

โดยหลักการของ Blue Ocean Strategy จะประกอบด้วย 4 ส่วนที่เรียกว่า ERRC ได้แก่กลยุทธ์ดังต่อไปนี้

  1. Eliminated (การยกเลิก)
  2. Reduced (การลด)
  3. Raised (การเพิ่ม)
  4. Created (การสร้างขึ้นมาใหม่)

Eliminated คือ การยกเลิกบางสิ่งที่เคยนำเสนอให้กับลูกค้าเพราะมองว่าลูกค้าต้องการสิ่งนั้น แต่ในปัจจุบันหรือในความเป็นจริงนั่นเป็นสิ่งที่ลูกค้าไม่ได้มีความต้องการแต่อย่างใด เพียงแต่ก่อนหน้านี้ลูกค้าอาจใช้เพราะไม่มีทางเลือก

Reduced คือ การลดคุณค่าบางอย่างที่ลูกค้าได้รับลงให้ต่ำกว่าระดับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของราคา เพราะคุณค่าบางอย่างที่เกินมาบางครั้งอาจเกิดจากการคิดว่าลูกค้าต้องการ แต่ในความเป็นจริงลูกค้าไม่ได้ต้องการมากขนาดนั้น (ใช้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ใช้เป็นหลัก)

Raised คือ การเพิ่มคุณค่าบางอย่างให้สูงกว่าระดับของอุตสาหกรรม (ตรงข้ามกับ Reduced) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ลูกค้าต้องการแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง

Created คือ การสร้างบางสิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่ไม่เคยมีใครตอบสนองมาก่อน หรือสิ่งที่ลูกค้าอาจไม่รู้ว่าตัวเองต้องการมาก่อน

ตัวอย่าง Blue Ocean Strategy

ตัวอย่าง Blue Ocean Strategy ได้แก่ Nintendo Wii ที่เปลี่ยนจากจับกลุ่มผู้ที่เล่นเกมแบบกด มาจับกลุ่มการเล่นเกมด้วยการใช้การออกท่าทางแทน และ Bloomberg ที่หันมาทำสำนักข่าวเกี่ยวกับ การเงิน การลงทุน เป็นเจ้าแรก

ทั้ง 2 ตัวอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ณ เวลานั้น จะเห็นว่าข้อดีของ Blue Ocean Strategy คือยังไม่มีคู่แข่งและยังเติบโตได้เรื่อย ๆ จนเป็นอันดับ 1 ในตลาดดังกล่าว จากทั้งการที่ตลาดยังใหม่และไม่มีคู่แข่งไปจนกว่าธุรกิจประเภท Me Too จะตามมา

อย่างไรก็ตาม หากตลาดใหม่ที่ว่าเติบโตอย่างโดดเด่นก็จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ให้ความสนใจเข้ามา และเมื่อมีคู่แข่งเข้ามามากพอในที่สุดก็จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่ Red Ocean ในท้ายที่สุด ดังนั้น ธุรกิจที่อยู่ใน Blue Ocean จึงควรระวังตัวอยู่เสมอและไม่ชะล่าใจว่าไม่มีคู่แข่ง เพราะอาจจะรู้ตัวอีกทีตอนที่โดนแซงไปแล้วก็ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด