หน้าแรก » ธุรกิจ » Bullwhip Effect คืออะไร? ปรากฏการณ์แส้ม้าเกิดจากอะไรแก้ไขอย่างไร

Bullwhip Effect คืออะไร? ปรากฏการณ์แส้ม้าเกิดจากอะไรแก้ไขอย่างไร

บทความโดย safesiri
Bullwhip Effect คือ ปรากฏการณ์แส้ม้า คือ โซ่อุปทาน

Bullwhip Effect คืออะไร?

Bullwhip Effect คือ ปรากฏการณ์แส้ม้าที่ใช้อธิบายปัญหาความผันผวนของโซ่อุปทาน (Supply Chain) จากความผิดปกติหรือคลาดเคลื่อนของการรับรู้ข้อมูลความต้องการสินค้า ซึ่งทำให้การคาดการณ์ปริมาณความต้องการสินค้าผิดพลาดจนทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนหรือปัญหาสินค้าเหลือมากเกินความต้องการ

ปรากฎการณ์แส้ม้า หรือ Bullwhip Effect ถูกใช้เป็นคำเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดจากการบริหารข้อมูลที่ผิดพลาดในโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่การบริหารข้อมูลในโซ่อุปทานเกิดความผิดพลาดและส่งต่อไปเรื่อย ๆ ในโซ่อุปทานตั้งแต่ผู้บริโภคย้อนกลับมาจนถึงซัพพลายเออร์ ทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับการสะบัดแส้ที่คลื่นจะใหญ่ขึ่นและใหญ่ที่สุดที่ปลายของแส้

Bullwhip Effect คือ ปรากฏการณ์แส้ม้า ใน Supply Chain โลจิสติกส์ โซ่อุปทาน
Bullwhip Effect หรือ ปรากฏการณ์แส้ม้า คือ ชื่อที่ตั้งขึ้นจากลักษณะของความผิดพลาดใน Supply Chain ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนการสะบัดแส้ม้า

ตัวอย่างของผลจาก Bullwhip Effect ที่เกิดขึ้นล่าสุดคือผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2022 ที่บริษัทค้าปลีกอย่าง Target, Amazon, และ Walmart พบว่าระดับสินค้าคงคลังของทั้ง 3 บริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดเพี้ยนของความต้องการซื้อหลังจากคลายล็อกดาวน์ที่เพิ่มสูงขึ้นจาก Pent Up Demand ที่ชาวอเมริกันกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (จากที่ก่อนหน้านี้ชะลอการใช้จ่าย)

ตัวอย่าง Bullwhip Effect

โซ่อุปทาน (Supply Chain) ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 ส่วน ซึ่งสินค้าหนึ่งชิ้นจะเดินทางไปจนกว่าจะถึงมือลูกค้าตามลำดับดังนี้ ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค

  1. เมื่อลูกค้าต้องการสินค้า ลูกค้าจึงซื้อสินค้า A จากผู้ค้าปลีก
  2. ผู้ค้าปลีกติดต่อผู้ค้าส่ง เพื่อหาสินค้า A มาขายที่หน้าร้าน
  3. ผู้ค้าส่งติดต่อหาสินค้า A จากผู้ผลิต
  4. ผู้ผลิตผลิตสินค้า A
  5. ผู้ผลิตสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจากซัพพลายเออร์

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแบบชิ้นต่อชิ้น เพื่อที่ผู้ค้าปลีกจะมีสินค้าพร้อมขายให้กับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ผู้ค้าปลีกจึงต้องสั่งสินค้ามาเผื่อเอาไว้เป็นสินค้าคงคลัง (Inventory) โดยประมาณความต้องการจากความต้องการซื้อของลูกค้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาของ Bullwhip Effect หรือ ปรากฏการณ์แส้ม้า

สมมติว่า สินค้า A สามารถขายได้เฉลี่ยไตรมาสละ 100 ชิ้น ผู้ค้าปลีกที่ต้องการมีสินค้าไว้พอขายตลอดเวลาก็จะสั่งสินค้ามาเก็บไว้ 125 ชิ้น ด้านผู้ค้าปลีกก็มีความคิดแบบเดียวกันจึงสั่งให้ผู้ผลิตผลิตสินค้า 150 ชิ้นเผื่อเอาไว้พร้อมขายให้ผู้ค้าปลีก ซึ่งผู้ผลิตเองก็คิดเช่นเดียวกันและสั่งวัตถุดิบการผลิตมาเอาไว้สำหรับการผลิตสินค้า 175 ชิ้น

จากตัวอย่าง Bullwhip Effect คือสิ่งที่เกิดจากการสั่งซื้อตามปริมาณความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่เริ่มจากเพียง 100 ชิ้น ซึ่งได้เพิ่มเป็น 175 ชิ้นในท้ายที่สุด เพราะต่างฝ่ายต่างปริมาณความต้องการเอาไว้สูงกว่าความเป็นจริง

Bullwhip Effect เกิดจากอะไร

โดยทั่วไปปรากฏการณ์แส้ม้า หรือ Bullwhip Effect เป็นสิ่งที่สามารถเกิดได้สาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุจากประเด็นเหล่านี้

  • ขาดการสื่อสารระหว่างกันใน Supply Chain หรือข้อมูลส่งถึงกันล่าช้าทำให้ข้อมูลที่ได้รับคลาดเคลื่อน
  • การพยากรณ์ความต้องการซื้อของลูกค้าผิดพลาด
  • การซื้อสินค้าปริมาณมากเกินความจำเป็น เพื่อซื้อสินค้าในราคาถูก
  • ความผิดปกติของความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปัจจัยภายนอก เช่น Pent Up Demand
  • ความผิดปกติของความต้องการซื้อที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน เช่น ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเพราะจัดโปรโมชั่น

จะเห็นว่าจากตัวอย่างเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นของจำนวนสินค้าที่สั่งมาเผื่อเอาไว้ในแต่ละขั้นของโซ่อุปทานครั้งละเท่า ๆ กัน และไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นอื่นที่ทำให้แต่ละฝ่ายมองว่าสินค้ากำลังเป็นที่นิยมอย่างมากและจำเป็นต้องสั่งสินค้าเอาไว้จำนวนมาก ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างล้นหลามของลูกค้า (ในกรณีสินค้ากำลังเป็นกระแส)

นอกจากนี้ ยังมีในกรณีที่การพยากรณ์ที่ผิดพลาดจากข้อมูลที่ผิดเพี้ยนจากปัญหาจากสถานการณ์ที่ผิดปกติอย่างเช่นการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างฉับพลันจาก Pent Up Demand ก็จะยิ่งทำให้ยากที่จะประมาณความต้องการซื้อที่ไม่รู้ว่าจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ ในกรณีนี้ถ้าหากไม่เตรียมสินค้าเอาไว้ก็จะเกิดปัญหาสินค้าไม่พอขาย แต่ถ้าหากเตรียมไว้มากเกินไปเมื่อความต้องการซื้อกลับสู่ภาวะปกติก็จะทำให้เหลือสินค้าคงคลังปริมาณมหาศาล

วิธีแก้ปัญหา Bullwhip Effect

สาเหตุหลักของ Bullwhip Effect คือการรับรู้และการพยากรณ์ความต้องการซื้อที่ผิดพลาดจนทำไปสู่ปัญหาสินค้าคงคลัง (Inventory) ที่ขาดหรือเกินในที่สุด ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุมาจากปัญหาที่แท้จริงปัญหาเดียวกันคือ “ปัญหาด้านข้อมูล” เมื่อข้อมูลที่นำมาใช้ผิดก็ย่อมทำให้การพยากรณ์ความต้องการผิดพลาดตาม

ดังนั้น การแก้ปัญหา Bullwhip Effect จึงทำได้ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันใน Supply Chain ให้มากที่สุด โดยข้อมูลความต้องการของลูกค้าควรจะไหลจากปลายน้ำสู่ต้นน้ำ หรือก็คือการส่งข้อมูลย้อนมาจากฝั่งลูกค้าไปหาซัพพลายเออร์ เพราะในความเป็นจริงสิ่งที่ทุกฝ่ายในโซ่อุปทานคือ “ปริมาณความต้องการของลูกค้า”

โดยการแชร์ข้อมูลในโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนสามารถทำได้มากมายหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูลกันเพียงอย่างเดียว ไปจนถึงการใช้ VMI (Vendor Managed Inventory) หรือระบบการจัดการสินค้าคงคลัง โดยปล่อยให้ผู้ขายเป็นผู้ควบคุมสินค้าคงคลังเองด้วยการอนุญาตให้ผู้ขายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการควบคุมปริมาณสินค้าคงคลัง รวมถึงการให้อำนาจแก่ผู้ขายในการดำเนินการออกคำสั่งซื้อตลอดจนวางแผนและดำเนินการเติมเต็มสินค้า

นอกจากนี้ การตัดโซ่อุปทานให้สั้นลงยังเป็นอีกวิธีที่สามารถใช้แก้ปัญหา Bullwhip Effect เพื่อทำให้การส่งข้อมูลสั้นที่สุดด้วยการที่ผู้ค้าปลีกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่นำมาใช้จริงได้ยาก เพราะการตัดโซ่อุปทานให้สั้นลงหมายความว่าธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการอำนวยความสะดวกของผู้ค้าส่ง ดังนั้นการตัดผู้ค้าส่งออกไปก็จะทำให้ผู้ค้าปลีกต้องรับส่วนดังกล่าวเอง

ข้อมูลอ้างอิงจาก: Wikipedia, CNBC, วารสารบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 131

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด