หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » แบงก์ชาติ คืออะไร? และมีหน้าที่อะไรบ้าง

แบงก์ชาติ คืออะไร? และมีหน้าที่อะไรบ้าง

บทความโดย safesiri
แบงก์ชาติ คือ อะไร ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท

แบงก์ชาติ หรือชื่ออย่างเป็นทางการของหน่วยงานในประเทศไทยคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ทำหน้าที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินภายในประเทศ บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับแบงก์ชาติว่าเป็นใคร มีหน้าที่อะไร ตลอดจนบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นแบงก์ชาติของไทย

แบงก์ชาติ คืออะไร?

แบงค์ชาติ คือ หน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ต่าง ๆ รวมทั้งทำหน้าที่กำกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของแบงค์ชาติ ในประเทศไทยหน่วยงานที่ทำหน้าที่แบงค์ชาติคือธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand : BoT)

บทบาทหน้าที่หลักของแบงค์ชาติ คือ การดำเนินงานผ่านนโยบายการเงินและมาตรการต่าง ๆ และทำธุรกรรมเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมเท่านั้น เทียบได้กับ แบงค์ชาติ คือ ธนาคารของธนาคารพาณิชย์ และโดยทั่วไปแบงค์ชาติจะเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและอิสระจากการเมืองทำให้เป็นหน่วยงานที่โดยปกติจะไม่ถูกแทรกแทรงจากรัฐ

และในขณะเดียวกัน “แบงค์ชาติ จะไม่ทำธุรกรรมกับประชาชนโดยตรง” ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปจึงไม่มีทางที่แบงค์ชาติจะติดต่อหาคุณโดยตรงได้เลย

นอกจากนี้ แบงค์ชาติของประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญและนโยบายการเงินของแบงค์ชาติเหล่านี้มักจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่นักลงทุนให้ความสนใจ มักจะเป็นแบงค์ชาติเหล่านี้

  • Bank of Japan (BoJ) แบงค์ชาติญี่ปุ่น
  • Federal Reserve System (Fed) แบงค์ชาติของสหรัฐอเมริกา
  • European Central Bank (ECB) แบงค์ชาติประเทศกลุ่มยูโรโซน
  • Bank of England (BoE) แบงค์ชาติอังกฤษ
  • Deutsche Bundesbank แบงค์ชาติเยอรมัน
  • People’s Bank of China (PBoC) แบงค์ชาติจีน
  • Reserve Bank of Australia (RBA) แบงค์ชาติออสเตรเลีย

รู้หรือไม่ว่าการเขียนคำว่า Bank ที่ถูกต้องตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน คือ “แบงก์” ไม่ใช่ “แบงค์” ดังนั้นเราจึงใช้คำว่า แบงก์ชาติ แทนคำวาม แบงค์ชาติ

หน้าที่ของแบงค์ชาติ

แบงค์ชาติในแต่ละประเทศทั่วโลกจะมีหน้าที่หลักที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก (แม้ว่าแบงค์ชาติบางประเทศอาจระบุหน้าที่แยกย่อยออกมา) ได้แก่ กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และการควบคุมดูแลสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ

ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ (Monetary Policy) เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ ด้วยเครื่องมือทางการเงิน เช่น การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และการเพิ่ม/ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ตลอดจนนโยบายการเงินนอกตำราอื่น ๆ

ควบคุมดูแลสถาบันการเงินที่อยู่ในประเทศ โดยมีเป้าหมายในการคุ้มครองประชาชนจากสถาบันการเงิน ซึ่งแบงค์ชาติจะทำหน้าที่เป็นเหมือนตำรวจที่คอยคุมสถาบันการเงินด้วยการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ การควบคุมการให้กู้ เงื่อนไขของสินเชื่อ ตลอดจนการสั่งปิดสถาบันการเงินหรือธนาคารที่มีความผิด

หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในบทความนี้เราจะใช้บทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างหน้าที่ของแบงค์ชาติ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุหน้าที่หลักเอาไว้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศที่ดี ซึ่งตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน ดังนี้

  • ออกและจัดการธนบัตรและบัตรธนาคาร
  • กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
  • บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.
  • เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
  • เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
  • จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
  • กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
  • บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา
  • ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด