หน้าแรก » การลงทุน » ESG คืออะไร? ทำไมช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

ESG คืออะไร? ทำไมช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

บทความโดย safesiri
ESG คือ แนวคิด การลงทุนแบบ ESG Sustainable คือ หุ้น ESG Integration คือ Environmental Social Governance

ทำความเข้าใจกับหลัก ESG ทำไมธุรกิจดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ถึงยั่งยืนและเป็นที่สนใจของนักลงทุนในปัจจุบัน

ESG คืออะไร?

ESG คือ กรอบแนวคิดในดำเนินธุรกิจอย่างยังยืน (Sustainability) โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานใน 3 ด้านที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรับผิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)

การเลือกลงทุนบนพื้นฐานของแนวคิด ESG นักลงทุนจะใช้ทั้ง 3 ปัจจัยของ ESG ในการประเมินมูลค่าธุรกิจและตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับปัจจัยด้านการเงินแบบดั้งเดิม เพื่อค้นหาธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ส่วนด้านธุรกิจที่นำแนวคิด ESG มาใช้ในการบริหารงานก็จะดำเนินงานบนพื้นฐานของหลักการ ESG บูรณาการไปกับการดำเนินงานหลักของธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ ESG คือ แนวคิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันจากทั้งนักลงทุนและจากธุรกิจ มาจากการที่ปัจจุบันประเด็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมที่เริ่มเห็นผลจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะหลัง

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจคือการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินงานด้วยหลัก ESG พบว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ เนื่องจากการที่บริษัทสามารถระบุปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้แล้วย่อมส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

อย่างในตลาดหุ้นไทยเองก็มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนหรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น SET ESG Ratings สำหรับเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุนที่ลงทุนบนแนวคิดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) และบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทก็ได้มีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน

Environmental (ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม)

Environmental คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับทุกสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากในทุกธุรกิจย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้น จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในทุกธุรกิจมีส่วนในการทำร้ายโลกไม่มากก็น้อย

ในประเด็นด้าน Environmental ของแนวคิด ESG จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของธุรกิจให้คุ้มค่าที่สุด และทำให้ผลเสียจากการดำเนินธุรกิจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ตัวอย่างการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความพยายามในการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาให้น้อยที่สุดจากการดำเนินงาน, การลดปริมาณการใช้กระดาษ, การปลูกป่าทดแทน, บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การรีไซเคิลหรือทำให้สามารถรีไซเคิลได้, และการลด ละ เลิก บางสิ่งที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

Social (ความรับผิดชอบต่อสังคม)

Social คือ ประเด็นด้านสังคมที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

ตัวอย่างในประเด็นด้านสังคม (Social) ของแนวคิด ESG เช่น ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม, การรักษาข้อมูลของลูกค้าอย่างปลอดภัย, การให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน, มาตรฐานด้านสุขภาพและสภาพความปลอดภัยในการดำเนินงาน, ความพึงพอใจของลูกค้า, จริยธรรมในการโฆษณาของแบรนด์, และความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบข้าง

เพราะธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจย่อมมีแนวโน้มที่การดำเนินงานของธุรกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าของธุรกิจ

Governance (ธรรมาภิบาล)

Governance คือ ประเด็นในด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องของความโปร่งใสในการบริหารดำเนินงานของธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและการตรวจสอบ เพื่อผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดของธุรกิจ (Stakeholder)

โดยประเด็นในด้านธรรมาภิบาล (Governance) สามารถประเมินได้จากปัจจัยอย่างเช่น ความโปร่งใสในการดำเนินงานภายในบริษัท, วัฒนธรรมองค์กร, กฎระเบียบ, สัดส่วนและนโยบายในการแบ่งผลตอบแทน, วิธีการจัดการในเรื่องภาษี, และโครงสร้างผู้บริหาร

ทำไม ESG สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ?

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของ ESG คือ บริษัทประเภทที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาจากการทำกิจกรรมอะไรก็ตามในการดำเนินธุรกิจ เพราะการไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นย่อมมีผลเสียตามมาในท้ายที่สุด และผลเสียที่ตามมาก็จะส่งต่อการดำเนินงานของธุรกิจในอนาคต

หากยังไม่เห็นภาพให้คุณจินตนาการบริษัทหนึ่งขึ้นมา โดยบริษัทดังกล่าวอาจจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยหรือดีกว่าก็ได้ แต่บริษัทดังกล่าวทำทุกอย่างตรงข้ามกับแนวคิด ESG ตัวอย่างเช่น

  • บรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่เน้นราคาถูก แต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • สภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานไม่ถูกหลักอาชีวอนามัย อีกทั้งยังให้ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม
  • ไม่สนใจชุมชนรอบข้างแอบปล่อยน้ำเสียและควันพิษในเวลากลางคืน รวมถึงให้พนักงานจอดรถข้างถนนเพื่อที่จะได้ไม่เสียพื้นที่ไปกับการทำลานจอดรถของบริษัท
  • การบริหารที่ไม่โปร่งใสมีการทุจริตในหลายโครงการภายในบริษัท ตั้งแต่การจัดซื้อ ไปจนถึงการคัดเลือกและการเลื่อนตำแหน่งพนักงาน
  • ไม่มีการป้องกันที่ดีในการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า
  • มีการแต่งบัญชีเพื่อทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าตัวเลขจริง เพื่อการเลี่ยงภาษี

จะเห็นว่าบริษัทในลักษณะนี้แม้ว่าในระยะสั้นจะมีผลประกอบการที่ดีเหนือคู่แข่ง แต่เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Shareholder) รับรู้ถึงพฤติกรรมหรือทนต่อพฤติกรรมเหล่านั้นของบริษัทไม่ได้อีกต่อไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ พนักงาน ลูกค้า และนักลงทุน ก็จะหนีไปหาบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนกว่าแทนในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ ในบางกรณีเรื่องที่เคยทำผิดหมกเม็ดเอาไว้ในอดีตก็อาจจะกลับมาในอนาคต และในท้ายที่สุดบริษัทที่เคยเป็นผู้นำก็จะกลายเป็นผู้ตาม ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้เองคือเรื่องของความยั่งยืนแบบเป็นรูปธรรม

ESG กับ CSR เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ตามที่ได้อธิบายในตอนต้น ESG คือ แนวคิดในการเลือกลงทุนในธุรกิจที่ยังยืน (Sustainable Investing) โดยพิจารณาจากการดำเนินงานของธุรกิจว่าให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social), และธรรมาภิบาล (Governance) หรือไม่อย่างไร

จะเห็นว่าลักษณะของ ESG จะตรงกับกิจกรรม CSR In Process หรือกิจกรรม CSR ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Shareholder) ตั้งแต่ในกระบวนการดำเนินงานของบริษัท

ในขณะที่ CSR หรือ Corporate Social Responsibility คือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องต่อความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการดำเนินงานเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบของ CSR After Process หรือ CSR As Process ก็ได้

กล่าวคือ ถ้าหากบริษัทมีการทำ CSR ในรูปแบบของ CSR In Process อย่างจริงจังอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ดำเนินงานอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด ESG อยู่แล้วนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด