หน้าแรก » ธุรกิจ » สินค้าคงคลัง คืออะไร? ต้นทุนจากสินค้าคงคลังมีอะไรบ้าง

สินค้าคงคลัง คืออะไร? ต้นทุนจากสินค้าคงคลังมีอะไรบ้าง

บทความโดย safesiri
สินค้าคงคลัง คือ Inventory ประโยชน์ สินค้าคงคลัง มีกี่ประเภท ต้นทุนสินค้าคงคลัง

สินค้าคงคลัง คือ สินทรัพย์ที่จับต้องได้ที่ธุรกิจเก็บรักษาเอาไว้ในคลังสินค้า ประกอบด้วย วัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้า สินค้าที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลิตที่รอนำไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป และสินค้าสำเร็จรูปซึ่งเป็นสินค้าผลิตเสร็จรอการนำไปขาย

ประโยชน์ของสินค้าคงคลัง คือ การทำให้ธุรกิจมีสินค้าพร้อมที่จะขายให้กับลูกค้าได้ทันที เพื่อทำให้ลูกค้าไม่หนีไปซื้อสินค้าทดแทนจากผู้ขายรายเมื่อไม่มีสินค้าที่ลูกค้าต้องการซื้อ รวมถึงการมีวัตถุดิบคงคลัง (Materials) ที่ช่วยให้สายการผลิตมีวัตถุดิบที่พร้อมและเพียงพอต่อการผลิตตามตารางการผลิตหรือเมื่อเกิดความต้องการสินค้าขึ้น

ในทางบัญชีสินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นสินทรัพย์ (Assets) ที่จัดเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) ที่มีสภาพคล่องต่ำเป็นลำดับท้าย ๆ เนื่องจากสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ช้าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์หมุนเวียนรายการอื่น เนื่องจากสินค้าคงคลังจะไม่สามารถแปลงเป็นเงินได้เมื่อไม่ได้ถูกนำไปผลิตต่อ หรือถูกขายออกไป

สินค้าคงคลัง มีกี่ประเภท?

สินค้าคงคลัง (Inventory) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • วัตถุดิบ (Material) สำหรับการนำไปผลิตเป็นสินค้า ทั้งนี้ในส่วนนี้อาจรวมไปถึงสินค้าใช้แล้วหมดไปที่จำเป็นต่อการผลิต อย่างเช่น น้ำมัน
  • งานระหว่างทำ (Work In Process) เป็นสินค้าที่เก็บเอาไว้เพื่อรอการผลิตต่อในขั้นตอนต่อไป
  • สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) ที่ผลิตเสร็จเรียบร้อย รอการนำไปขายหรือส่งมอบให้ผู้ซื้อ

ทั้งนี้อาจแยกย่อยประเภทสินค้าคงคลังออกเป็นประเภทตามวิธีหรือเงื่อนไขในการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง อย่างเช่น สินค้าคงคลังระหว่างทาง (In-transit Inventory), สินค้าคงคลังที่เก็บตามรอบ (Cycle Stock), สินค้าคงคลังตามฤดูกาล (Seasonal Inventory), สินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว (Dead Stock), และสินค้าคงคลังสำหรับการซ่อมบำรุง (MRO : Maintenance-Repair-Operating Supplies) เป็นต้น

ต้นทุนสินค้าคงคลัง มีอะไรบ้าง?

แม้ว่า สินค้าคงคลัง คือ สิ่งที่มีประโยชน์มากมายต่อโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจ แต่ปัญหาหลักของสินค้าคงคลังคือเรื่องของ “ต้นทุนสินค้าคงคลัง” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเก็บรักษาสินค้าหรือวัตถุดิบเหล่านั้นเอาไว้

โดยต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลังที่เกิดขึ้นได้บ่อย ประกอบด้วย

พื้นที่ในการเก็บสินค้าคงคลัง ทำให้เสียโอกาสในการนำพื้นที่ที่ใช้เก็บรักษาสินค้าคงคลังไปทำอย่างอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่มากกว่า ซึ่งคำว่าพื้นที่ในที่นี้อาจรวมไปถึงต้นทุนจากการเช่าหรือสร้างคลังสินค้าเพื่อเก็บรักษาสินค้าคงคลังด้วย

ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง จากการจัดการและเก็บรักษาสินค้าในคลังสินค้า (Storage) อย่างเช่น ค่าเช่าคลังสินค้า, ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายสินค้าภายในคลัง, การเก็บรักษาสินค้าหรือวัตถุดิบในพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิ, ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการขนสินค้าเข้า-ออกคลังสินค้า

สินค้าตกรุ่น (Obsolete Inventory) เกิดจากการเก็บสินค้าคงคลังเอาไว้นานเกินไปเพราะไม่สามารถขายออกไปได้ ทำให้ในท้ายที่สุดสินค้าคงคลังดังกล่าวกลายเป็นสินค้าตกรุ่น (Inventory) ที่ไม่สามารถขายออกไปได้ หรือในกรณีที่ขายได้ก็ไม่สามารถขายราคาเดิมไได้อีกต่อไป

วิธีลดต้นทุนสินค้าคงคลัง

แม้ว่า สินค้าคงคลัง คือ สาเหตุง่ายที่ทำให้หลายธุรกิจเกิดความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงการไม่มีสินค้าคงคลังอย่างสิ้นเชิงในหลายธุรกิจ ทำให้ทางออกจึงเป็นการบริหารจัดการสินค้าคงคลังอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงที่เกิดจากสินค้าคงคลัง

ตัวอย่างวิธีการบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) ที่พบได้บ่อย ได้แก่

การใช้ระบบ Just In Time หรือการผลิตแบบทันเวลาพอดี ที่จะไม่ผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากเอาไว้เพื่อรอขายออก แต่จะผลิตสินค้าตามที่ต้องขาย รวมทั้งไม่สั่งวัตถุดิบมาเก็บไว้ทำให้ไม่มีสินค้าคงคลังและวัตถุดิบคงคลังมากเกินความจำเป็น

การวางแผนพยากรณ์ความต้องการสินค้า เพื่อหาแนวโน้มของยอดขายในอนาคตจากข้อมูลในอดีต เพื่อประมาณกำลังการผลิตในอนาคตที่จะทำให้สามารถกำหนดจำนวนสินค้าที่ผลิตออกมาให้เหมาะสมที่สุด เป็นวิธีการทำให้สินค้าคงคลัง (Inventory) มีจำนวนไม่มากเกินไปจนมีสินค้าเหลืออยู่เป็นจำนวนมากหรือน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ

คำนวณหาการสั่งซื้อที่ประหยัด (Economic Order Quantity : EOQ) เพื่อคำนวณจำนวนการสั่งซื้อที่ประหยัดที่สุดในการสั่งซื้อสินค้าแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้มีสินค้าคงคลังเหลือมากหรือน้อยเกินไปเมื่อพิจารณาจากยอดขายในอดีต ระยะเวลารอสินค้ามาส่ง และต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า

การนำไปลดแลกแจกแถม (Sales Promotion) ในกรณีสินค้าคงคลังกลายเป็นสินค้าตกรุ่น (Obsolete Inventory) ที่เป็นวิธีการลดสินค้าคงคลังที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะกับสินค้าที่ตกรุ่นเร็วอย่างเช่นสินค้าเทคโนโลยี ที่ถ้าหากว่าไม่รีบขายออกไปแม้ว่าจะต้องขายในกำไรที่ต่ำหรือขายขาดทุน อาจจะไม่สามารถได้อีกเลย ซึ่งนำไปสู่วิธีสุดท้ายคือ “การทำลายสินค้าทิ้ง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด