หน้าแรก » ธุรกิจ » PDCA คือ อะไร? การปรับปรุงด้วยวงจร PDCA ทำอย่างไร

PDCA คือ อะไร? การปรับปรุงด้วยวงจร PDCA ทำอย่างไร

บทความโดย safesiri
PDCA คือ วงจร PDCA คือ วงจร Deming Cycle ตัวอย่าง Plan Do Check Act วงจรเดมมิ่ง วงจรคุณภาพ

วงจร PDCA เป็นเครื่องมือที่นำประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายวงการสำหรับการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ธุรกิจ การศึกษา หรือการบริการ ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจ PDCA แต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างการนำไปใช้งาน

PDCA คือ อะไร?

PDCA คือ เครื่องมือในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพด้วยวงจรแบบวนซ้ำที่ประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ Plan Do Check Act เพื่อการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ผลลัพธ์ที่ได้จากวงจร PDCA แสวงหาโอกาสในการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นวนซ้ำต่อไป

การนำวงจร PDCA มาใช้จะเริ่มต้นจากขั้นตอน Plan (วางแผน), Do (ลงมือปฏิบัติ), Check (ตรวจผล), และ Act (การปรับปรุงหรือนำไปใช้) ตามลำดับ ซึ่งกระบวนการ PDCA เหล่านี้จะวนซ้ำโดยเปลี่ยนตัวแปรไปจนกว่าจะได้วิธีที่สามารถแก้ปัญหาได้จริงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยในแต่ละขั้นตอนของวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) หรือวงจร PDCA มีรายละเอียด ดังนี้

  • Plan เกี่ยวกับการระบุปัญหา วางแผนการดำเนินงาน และเกณฑ์ที่ใช้วัดผล
  • Do คือการลงมือปฏิบัติจริงตามแผนที่วางไว้
  • Check คือการตรวจสอบและวัดผลตามเกณฑ์ที่กำหนดว่าเป็นไปตามต้องการหรือไม่
  • Act การปรับปรุงกระบวนการ หรือการนำกระบวนการไปใช้ในการดำเนินงานจริง
วงจร PDCA คือ ตัวอย่าง วงจรเดมมิ่ง Deming Cycle คือ วงจรคุณภาพ
แผนภาพวงจร PDCA หรือ วงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) ที่แสดงถึงการทดลองวนซ้ำเพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

PDCA เป็นแนวคิดของ Walter A. Shewhart เรียกว่า Shewhart Cycle (วงจรชิวฮาร์ท) ตามชื่อผู้พัฒนาแนวคิด และได้มีการพัฒนาต่อยอดโดย Edward Deming ในปี 1950 และเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างตั้งแต่นั้นมา ซึ่งทำให้แนวคิด PDCA รู้จักในชื่อของวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) และได้รับความนิยมในอุตสาหกรรม โดย PDCA เป็นเครื่องมือที่มักจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือของแนวคิดในการปรับปรุงคุณภาพไม่ว่าจะเป็น TQM (Total Quality Management) หรือ Kaizen

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า PDCA จะเป็นเครื่องมือที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อการพัฒนากระบวนการดำเนินงานขององค์กร แต่ในทางปฏิบัติวงจร PDCA เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการวางแผนการปรับปรุงและพัฒนาที่สามารถใช้กับเรื่องใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาผลการเรียน การทดลองทั่วไปในชีวิตประจำวัน และการปรับปรุงวิธีการบางอย่างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น

Plan (วางแผน)

Plan คือ ขั้นตอนการวางแผน เป็นขั้นตอนแรกสุดของวงจร PDCA หรือ วงจรเดมมิ่ง ในการระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไข โอกาสที่คาดว่าจะได้รับ หรือการตั้งเป้าหมายที่ต้องการทำ และพัฒนาแผนขึ้นมาเพื่อทำให้ปัญหาที่ระบุไว้เกิดขึ้นได้จริง

ในส่วนของ P หรือ Plan จะครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาปัญหา การลำดับความสำคัญของปัญหาเพื่อเลือกปัญหาที่จะจัดการแก้ไขก่อนหลัง การจัดตั้งวัตถุประสงค์ การตั้งเกณฑ์ในการประเมินผล (KPI) กรอบระยะเวลา การกำหนดงบประมาณ และขั้นตอนในการดำเนินงาน

ตัวอย่างเช่น การใช้ PDCA ในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานที่ช้าจากปัญหางานเอกสารใช้เวลาทำนานเกินไป ก็จำเป็นที่จะต้องหาสาเหตุว่าอะไรบ้างที่ทำให้งานเอกสารใช้เวลานาน จากนั้นจัดลำดับความสำคัญของที่มาของปัญหา และพัฒนาแผนขึ้นมาเพื่อทำให้ปัญหางานเอกสารนั้นดีขึ้น โดยมีการระบุสิ่งที่ใช้ชี้วัดว่าดีขึ้นเป็นอย่างไร

โดยในขั้นตอนการระบุปัญหาอาจทำได้โดยการใช้หลักการ QCC (Quality Control Circle) หรือ Gemba ที่พนักงานที่ใกล้ชิดกับกระบวนการทำงานเป็นผู้ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่สามารถแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นได้ และการระบุวัตถุประสงค์อาจใช้หลัก SMART เป็นกรอบแนวคิดในการระบุวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมบน 5 ปัจจัย ได้แก่

  • Specific เป้าหมายมีความเฉพาะเจาะจง ชัดเจน
  • Measurable สามารถวัดได้ในทางสถิติ
  • Achievable สามารถสำเร็จได้จริง มีความเป็นไปได้
  • Realistic เป้าหมายที่ตั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน
  • Timely มีกำหนดกรอบเวลาในการบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน

Do (ลงมือปฏิบัติจริง)

Do คือ ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริงตามแผนที่ได้วางไว้ในขั้น Plan ก่อนหน้านี้ และรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการลงมือปฏิบัติจริง

โดยในขั้นตอน Do ของ PDCA การดำเนินงานตามแผนจะต้องตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและมีการควบคุม เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าวิธีการดำเนินงานนี้ได้ผลหรือไม่ (ในขั้นถัดไป)

ในทางกลับกันหากไม่ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดจะทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าแท้จริงผลสำเร็จ (หรือไม่สำเร็จ) เกิดขึ้นจากกระบวนการจริงหรือไม่ และเกิดในขั้นตอนใด

Check (ตรวจสอบ)

Check คือ การตรวจสอบวัดผลจากที่ได้ลงมือปฏิบัติในขั้น Do ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในขั้น Plan หรือไม่

จากตัวอย่างเดิม หากเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ “ระยะเวลาในการทำเอกสารลดลง 60 นาที” และ “ความผิดพลาดในการดำเนินงานด้วยเอกสารแบบใหม่ไม่เกิน 10%” การตรวจสอบวัดผลจึงเป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

เมื่อตรวจสอบและได้ผลจากขั้น Check ของวงจร PDCA ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนถัดไปคือขั้น Act ที่เป็นการปรับปรุง (หากไม่ประสบความสำเร็จ) หรือการนำไปใช้จริง (เมื่อแก้ไขปัญหาได้จริง)

Act (ปรับปรุง)

Act คือ ขั้นตอนสุดท้ายของวงจร PDCA (ในแต่ละรอบ) เป็นการปรับปรุงกระบวนการหลังจากที่ได้วัดผลในขั้น Check เพื่อทำให้กระบวนการดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นขั้นตอนมาตรฐานหลังจากนี้

โดยในขั้น Act เป็นผลมาจากขั้น Check (การตรวจสอบผล) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้

  • หากตรวจสอบแล้วพบไว้ว่าไม่สำเร็จตามเกณฑ์ที่วางไว้ในขั้น Plan จะต้องกลับไปปรับปรุงวิธีการใหม่ให้เหมาะสม
  • หากสำเร็จตามเกณฑ์ที่วางไว้ในขั้น Plan วิธีที่ใช้แล้วสำเร็จนี้จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินงานหลังจากนี้

จากตัวอย่าง PDCA หากเงื่อนไขที่ใช้วัดผลทั้ง 2 เงื่อนไขสำเร็จ หลังจากนี้งานเอกสารของบริษัทดังกล่าวจะใช้วิธีนี้ต่อไป ในทางกลับกันหากไม่สำเร็จตามเงื่อนไขก็จะต้องย้อนกลับไปวิเคราะห์ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และกลับไปที่ขั้น Plan ของวงจร PDCA อีกครั้ง พร้อมวิเคราะห์ปัญหาใหม่จากสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อวางแผนการดำเนินงานใหม่อีกครั้บ พร้อมกับปฏิบัติและประเมินผลจนกว่าจะผ่านเงื่อนไขที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ การปรับปรุงที่สำเร็จแล้ว หากในอนาคตพบปัญหาหรือพบว่าสามารถดำเนินงานได้ด้วยวิธีที่ดียิ่งขึ้นอีกก็อาจนำไปสู่การต่อยอดกระบวนการดังกล่าวด้วย PDCA ได้อีก

ตัวอย่าง การใช้วงจร PDCA

แม้ PDCA เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานเพื่อการปรับปรุงพัฒนากระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร แต่ด้วยหลักการของ PDCA ที่เป็นการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องเป็นวงจรด้วย Plan Do Check และ Act ทำให้วงจรคุณภาพ PDCA สามารถประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น การพัฒนาคะแนนสอบของนักศึกษา ซึ่งอาจพัฒนาด้วยขั้นตอนแบบวงจร PDCA ได้ ดังนี้

  • Plan หาว่าอะไรทำให้สอบได้คะแนนน้อย แล้วคิดวิธีแก้ปัญหานั้น อย่างเช่น เพิ่มเวลาอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนมากขึ้น หรือใช้การสรุปเนื้อหาก่อนสอบ พร้อมกับตั้งว่าในการสอบครั้งหน้าคะแนนจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ (ด้วยตัวเลขที่เป็นไปได้)
  • Do ทำตามขั้นตอนที่วางเอาไว้
  • Check เปรียบเทียบผลสอบกับคะแนนที่ตั้งเป้าเอาไว้
  • Act ถ้าเป็นไปตามเป้าแปลว่าหลังจากนี้ต้องใช้วิธีที่ทำในขั้น Do ในการเรียนหนังสือ แต่ถ้าหากยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็จะต้องหาคำตอบว่าทำไม โดยเริ่มในขั้น Plan อีกครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด