หน้าแรก » ธุรกิจ » PESTLE Analysis คืออะไร? และวิเคราะห์อย่างไร

PESTLE Analysis คืออะไร? และวิเคราะห์อย่างไร

บทความโดย safesiri
PESTLE Analysis คือ การวิเคราะห์ PESTLE ภายนอก

โลกธุรกิจเต็มไปด้วยความผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปัจจัยต่าง ๆ มากมายล้วนส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการและนักวางกลยุทธ์

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักการวิเคราะห์ PESTLE Analysis เครื่องมือสำหรับการช่วยปัจจัยภายนอก 5 กลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

PESTLE Analysis คืออะไร?

PESTLE Analysis คือ เครื่องมือทางกลยุทธ์สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ทั้ง 6 ด้านที่ล้วนแต่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ Political, Economic, Social, Technology, Legal, และ Environmental ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคของธุรกิจ

การวิเคราะห์ PESTLE จะช่วยทำให้เห็นว่าปัจจัยภายนอกอะไรบ้างที่มีผลต่อธุรกิจและอยู่ในรูปแบบของโอกาสหรืออุปสรรคเพื่อนำผลไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ต่อไป ซึ่งการวิเคราะห์ PESTLE Analysis สามารถทำได้ด้วยการระบุว่าแต่ละรายการส่งผลดี (โอกาส) หรือผลเสียต่อธุรกิจ (อุปสรรค) มากน้อยแค่ไหนโดยที่ผู้วิเคราะห์อาจใช้การให้คะแนนในแต่ประเด็นว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน

PESTLE Analysis เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่พัฒนาต่อยอดมาจาก PEST Analysis ที่เดิมเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก 4 กลุ่ม โดยได้มีการด้วยการเพิ่มปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อธุรกิจเข้ามาอีก 2 ด้าน คือ Legal และ Environmental

โดยทั้ง 6 ด้านของ PESTLE Analysis ที่เป็นที่มาของชื่อ PESTLE มีความหมายดังนี้

  • Political คือ ปัจจัยด้านการเมือง
  • Economic คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
  • Social คือ ปัจจัยด้านสังคม
  • Technology คือ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี
  • Legal คือ ปัจจัยด้านกฎหมาย
  • Environmental คือ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

Political

Political คือ ปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับการเมืองและนโยบายทางการเมืองต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างเช่น

นโยบายของรัฐที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ เช่น ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ทางภาษี กฎหมายเกี่ยวกับภาษี และมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ จากรัฐบาลที่มีผลต่อธุรกิจ

นโยบายกีดกันทางการค้า ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงกฎหมายป้องกันการผูกขาดในประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจ

ระบบการปกครองและเสถียรภาพทางการเมือง ของประเทศนั้นเหมาะกับการลงทุนหรือไม่ มีความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองหรือไม่ ตลอดจนรัฐมีการเข้ามาแทรกแซงการลงทุนของเอกชนบ่อยแค่ไหน

Economic

Economic คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรงเนื่องจากเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยมักจะเกี่ยวข้องกับประเด็นต่อไปนี้

การเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่ในท้ายที่สุดจะส่งผลมาที่กำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศ โดยอาจวิเคราะห์ได้จากการเติบโตของ GDP, การจ้างงาน, รายได้เฉลี่ยของประชาชน, และการว่างงาน

สเถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ต้นทุน (Cost) ของการทำธุรกิจในประเทศที่ทำการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น ค่าแรงงานขั้นต่ำ ราคาวัตถุดิบ และต้นทุนทางการเงินที่สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง

Social

Social คือ ปัจจัยภายนอกด้านสังคมที่สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยการวิเคราะห์ PESTLE Analysis ในส่วนของ Social มักจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยดังต่อไปนี้

วัฒนธรรม รวมถึงค่านิยม ทัศนคติ ธรรมเนียม และประเพณีของตลาดเป้าหมาย

พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior) ผู้บริโภคในประเทศนั้นมีนิสัยในการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการซื้อของครั้งละชิ้นหรือซื้อของครั้งละแพ็ค

วิถีชีวิต (Lifestyle) คนในประเทศนี้มีไลฟ์สไตล์อย่างไร เทรนด์การใช้ชีวิตอย่างไร มีทัศนคติต่อการทำงานอย่างไร อะไรที่กำลังเป็นกระแส รวมถึงสังคมชอบอะไร/ไม่ชอบอะไร

Technology

Technology คือ ปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับเทคโนโลยีของประเทศที่เรากำลังทำการวิเคราะห์ เป็นการวิเคราะห์ว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือส่งผลต่อธุรกิจในประเทศนั้นอยู่ในระดับไหน

โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น อินเตอร์เน็ต ไฟฟ้า น้ำ การคมนาคม รวมถึงต้นทุนของช่องทางในการขนส่งที่ธุรกิจจำเป็นต้องใช้

เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานและการเข้าถึงเทคโนโลยีอยู่ในระดับใด ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังใช้เทคโนโลยีแบบไหนกันอยู่ หรือช่องทางในการเข้าถึงสื่อคนในประเทศนั้นเข้าถึงสื่อจากอะไร ถ้าต้องการหาพนักงานที่เข้าใจเทคโนโลยีในระดับที่ต้องการสามารถหาได้ง่ายแค่ไหนในกรณีที่ต้องการนำมาเป็นพนักงาน

การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เป็นการวิเคราะห์ว่าภายในประเทศได้รับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาหรือไม่ และมีอยู่มากน้อยแค่ไหน และในประเทศนั้นบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนามีอยู่มากน้อยแค่ไหนในกรณีที่ต้องทำการวิจัยและพัฒนา

Legal

Legal คือ ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อห้ามต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยส่วนมากมักจะส่งผลกับธุรกิจในเชิงของข้อห้ามหรือข้อจำกัด ประกอบด้วย

  • กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ (Minimum Wage)
  • กฎหมายแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และสิทธิประโยชน์พื้นฐานของแรงงาน
  • กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เครื่องหมายอย. และกฎหมายฉลากสินค้าในจีน
  • เรื่องเกี่ยวกับภาษี ได้แก่ อัตราภาษี การยกเว้นภาษี และสิทธิพิเศษทางภาษี
  • ระเบียบ กฎ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น เงื่อนไขการก่อตั้งบริษัท เงื่อนไขในการเข้ามาการลงทุน และสัดส่วนการลงทุนที่กฎหมายกำหนด

Environmental

Environmental คือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เข้าไปลงทุน (ซึ่งมักจะส่งผลต่อกิจกรรมทางโลจิสติกส์ของแต่ละธุรกิจ) ซึ่งประกอบด้วยประเด็นดังนี้

  • สภาพภูมิอากาศ ลักษณะทางธรรมชาติ และลักษณะทางภูมิศาสตร์
  • ลักษณะทางธรรมชาติ
  • ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศ
  • ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยหรือไม่
  • ติดกับประเทศบางประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์หรือไม่

จากทั้งหมด จะเห็นว่า PESTLE Analysis เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการแบ่งหมวดหมู่ของปัจจัยภายนอก เพื่อช่วยเป็นแม่แบบของการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจผ่านทั้ง 6 ด้าน ซึ่งช่วยผู้วิเคราะห์อย่างยิ่งในการสร้างกรอบขึ้นมาแทนที่คุณที่เป็นผู้วิเคราะห์จะเริ่มวิเคราะห์จาก 0 ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่มีอยู่นับหมื่นนับแสน

ในขณะเดียวกัน PESTLE เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมธุรกิจ แต่ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ อีกมากมายที่ควรใช้ควบคู่กันไป (หรือแม้แต่ใช้ทดแทน) อย่างเช่น SWOT Analysis, STEEP Analysis, Five Forces Analysis, และ Porter’s Diamond Model เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทราบคือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกของธุรกิจหรือองค์กรด้วย PESTLE Analysis หรือเครื่องมือใดก็ตามเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกเหล่านี้ องค์กรควรทำการวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด