หน้าแรก » ธุรกิจ » หลักธรรมาภิบาล คือสิ่งที่เกี่ยวกับอะไร? ทำไมสำคัญต่อธุรกิจ

หลักธรรมาภิบาล คือสิ่งที่เกี่ยวกับอะไร? ทำไมสำคัญต่อธุรกิจ

บทความโดย safesiri
หลักธรรมาภิบาล คือ มีอะไรบ้าง

ในปัจจุบัน หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความสำคัญมากขึ้นในฐานะแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกับ หลักธรรมาภิบาล และเหตุที่ทำให้มีความสำคัญกับธุรกิจและการลงทุน

หลักธรรมาภิบาล คืออะไร?

หลักธรรมาภิบาล คือ หลักการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและวิธีบริหารองค์กรอย่างสุจริต โปรงใส และมีจริยธรรมตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือสังคม ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกฝ่ายขององค์กร

หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ (Sustainability) เนื่องจากการดำเนินธุรกิจอย่างสุจริตและโปร่งใสย่อมทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นในระยะยาว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนที่ไม่ว่าจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่ยั่งยืนหรือไม่ก็ตาม ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินงานบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล

และไม่ควรพิจารณาเพียงแค่หลักธรรมาภิบาลที่แสดงอยู่บนหน้ากระดาษ แต่ควรตรวจสอบไปถึงการดำเนินงานในอดีต สิ่งที่เห็นปัจจุบัน ชื่อเสียงขององค์กร ข่าวหรือเหตุการณ์บางอย่างและวิธีตอบสนองต่อเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงต่อหลักธรรมาภิบาลของผู้บริหารหรือตัวแทนของบริษัท

หลักธรรมาภิบาลเกี่ยวกับอะไร

หลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทในการนำไปใช้และวัฒนธรรมที่นำไปใช้ แต่ในบริบทของธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กร หลักธรรมาภิบาล 6 ประการ มักจะเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้อธิบายหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ได้แก่

  • ความโปร่งใส (Transparency) การดำเนินงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้
  • ความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ (Responsibility) การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มกำลัง มุ่งมั่นให้งานสำเร็จและพัฒนางานให้ดีขึ้น รวมถึงความรับผิดชอบต่อรับผิดชอบผลของการกระทำจากการกระทำ การสั่งการ การมอบหมาย และการตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ของตน
  • หลักนิติธรรม (Rule of law) การที่ทุกคนในองค์กรอยู่ใต้กฎอย่างเท่าเทียม และไม่ควรมีใครอยู่เหนือกฎที่ตั้งไว้
  • ความยุติธรรม (Fairness) การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  • การมีส่วนร่วม (Participation) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีสิทธิในกระบวนการตัดสินใจควรมีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร
  • การดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง (Compliance) ที่ถูกต้องตามกฎหมายข้อบังคับ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประเด็นด้านคุณธรรม

ทั้งนี้ ในแต่ละองค์กรอาจจะมีหลักธรรมาภิบาล (Principles of Good Governance) ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แนวทางการดำเนินธุรกิจ มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือบริบทอื่นทางสังคม

ปัจจุบันในแต่ละองค์กร โดยเฉพาะในบริษัทจดทะเบียนมักจะมีการตั้งแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลของแต่ละบริษัท เรียกว่า Code of Governance ซึ่งนักลงทุนที่สนใจสามารถดูได้ในส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations หรือ IR) และรายงานประจำปีของแต่ละบริษัทจดทะเบียน

หลักธรรมาภิบาลสำคัญอย่างไรกับธุรกิจ?

ในภาพรวมหลักธรรมาภิบาล คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างสุจริต โปรงใส ถูกกฎหมาย และมีจริยธรรมตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมและสังคม กล่าวคือ หลักธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่หากองค์กรปฏิบัติจะทำให้ในระยะยาวองค์กรจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมาย และปัญหาความไม่เชื่อถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน พนักงาน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจก็ตาม

ในทางกลับกันในธุรกิจที่ไม่สนใจที่จะดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล แล้วเลือกที่จะดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางที่ขัดต่อจริยธรรม เอาเปรียบ หรือทำการทุจริต ก็จะนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมาย ปัญหาด้านชื่อเสียงในสายตาผู้บริโภค ตลอดจนความเชื่อถือต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจอย่างคู่ค้า

อย่างเช่น ธุรกิจที่เอาเปรียบพนักงานที่ในระยะสั้นอาจทำให้ธุรกิจได้ผลประโยชน์บางอย่าง แต่ในระยะยาวย่อมทำให้ภายในองค์กรมีปัญหาไม่ว่าทางใดทางหนึ่งและส่งผลเสียต่อการในการดำเนินงานในระยะยาวในท้ายที่สุด หรืออีกตัวอย่างที่ง่ายกว่านั้นคือธุรกิจที่เลี่ยงภาษี ในขณะที่ธุรกิจเหล่านี้เลี่ยงภาษีย่อมทำให้ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง แต่ในระยะยาวเมื่อปัญหาดังกล่าวถูกเปิดเผยก็จะนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายและค่าปรับมหาศาลเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เคยได้รับ

และไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ในท้ายที่สุดผลของการกระทำเหล่านี้ก็จะกลับมาสู่ผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของกิจการที่ได้นำเงินมาลงทุนกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใดก็ตาม

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจดำเนินงานบนหลักธรรมาภิบาล

เป็นสิ่งสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) โดยเฉพาะนักลงทุน (และคู่ค้า) ที่ควรทราบว่าบริษัทที่กำลังลงทุน (หรือทำธุรกรรมด้วย) ดำเนินงานด้วยพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือไม่อย่างไร โดยในเบื้องต้นอาจพิจารณาได้ว่าธุรกิจดำเนินงานบนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลได้จากหลักธรรมาภิบาลทั้ง 6 ประเด็นที่ได้อธิบายเอาไว้ในตอนต้น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติหากบริษัทดังกล่าวจงใจปกปิด ในฐานะนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด แทบไม่มีทางรู้ถึงความผิดปกติได้เลย เหมือนกับหลายกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับการดำเนินงานของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และคดี Cryptocurrency Exchange ทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากจะจับผิดความไม่ชอบมาพากล จึงมักเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยพบเจอมา หรือข้อมูลที่ได้มาจากคนใกล้ชิด (ที่ไม่ใช่ในลักษณะ “เขา” บอกมา) ถึงความไม่ชอบมาพากลที่พอจะช่วยกรองได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งเป็นวิธีที่คุณจำเป็นจะต้องมี Connection ที่ดีมากพอสมควร ส่งผลให้โดยทั่วไป (และส่วนใหญ่) จึงทำได้เพียงการหาข้อมูลอย่างเป็นทางการเท่าที่มีการเปิดเผยเพื่อลดความเสี่ยงเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด