หน้าแรก » ธุรกิจ » การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) คืออะไร?

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) คืออะไร?

บทความโดย safesiri
การประเมินความเสี่ยง Risk Assessment คือ

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) คือการวิเคราะห์ความสำคัญของความเสี่ยงแต่ละรายการที่ผู้วิเคราะห์ได้ระบุว่าเป็นความเสี่ยงกำลังเผชิญ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการตอบสนองความเสี่ยงแต่ละรายการอย่างเหมาะสมด้วยกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงต่อไป

โดยการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เป็นหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ประเมินความเสี่ยงสามารถระบุและอธิบายความเสี่ยงที่เผชิญได้แล้วในขั้น Risk Identification เพื่อที่จะนำผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงไปใช้ในการเลือกกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยง (Risk Response)

ทั้งนี้ เครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงที่ช่วยในการทำความเข้าใจระดับความเสี่ยงขององค์กรมีอยู่หลากหลายเครื่องมือ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ของผู้ประเมินความเสี่ยง อย่างเช่น Bow Tie Model, Failure Mode and Effects Analysis (FMEA), และ Risk Assessment Matrix ที่ง่ายและได้รับความนิยมมากที่สุด

Risk Assessment Matrix คือ อะไร?

Risk Assessment Matrix คือ ตารางประเมินความเสี่ยง ที่ประเมินระดับความเสี่ยงด้วยการเปรียบเทียบระหว่างโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และความรุนแรงจากผลกระทบหากความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เพื่อแสดงระดับความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกับองค์กร

การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ด้วย Risk Assessment Matrix จะเป็นการนำความเสี่ยงแต่ละความเสี่ยงที่ผู้ประเมินได้ระบุเอาไว้ในขั้น Risk Identification มาใช้เปรียบเทียบระหว่าง โอกาสเกิดความเสี่ยง (Likelihood) และ ผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) ในรูปของตารางแบบ 2X2 3X3 4X4 5X5 หรือมากกว่านั้นตามความเหมาะสม

โดยในแกนตั้งของ Risk Assessment Matrix จะแสดงระดับของผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) จากต่ำที่สุดไปถึงสูงที่สุดจากล่างขึ้นบน และในแกนนอนของ Risk Assessment Matrix จะแสดงระดับของโอกาสเกิดความเสี่ยง (Likelihood) จากต่ำที่สุดไปถึงสูงที่สุดจากซ้ายไปขวา

ทั้งนี้ เลขระดับคะแนนและความละเอียดของ Scale คะแนน ภายใน Risk Assessment Matrix อาจปรับเปลี่ยนเกณฑ์ได้ตามความเหมาะสมของสิ่งที่กำลังประเมินความเสี่ยงที่มีพื้นฐานต่างกัน

ตารางประเมินความเสี่ยง Risk Assessment Matrix คือ สำหรับ การ ประเมินความเสี่ยง Risk Assessment คือ
ตาราง Risk Assessment Matrix แบบ 5X5 สำหรับการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)

ซึ่งในบทความนี้เราจะใช้ตัวอย่าง Risk Assessment Matrix แบบ 5X5 เป็นตัวอย่าง ที่จะแบ่งคะแนนโอกาสในการเกิดความเสี่ยง (Likelihood) และผลจากความเสี่ยง (Impact) ออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำมาก ระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับสูงมาก โดยให้คะแนน 1 ถึง 5 คะแนนตามลำดับ

การประเมินความเสี่ยงด้วย Risk Assessment Matrix

เมื่อผู้วิเคราะห์ได้ให้คะแนนโอกาสในการเกิดความเสี่ยง (Likelihood) และผลจากความเสี่ยง (Impact) ของความเสี่ยงแต่ละรายการที่ระบุได้แล้ว จะนำความเสี่ยงแต่ละรายการมาใช้เปรียบเทียบในตาราง Risk Assessment Matrix เพื่อแสดงระดับความเสี่ยงของแต่ละรายการความเสี่ยง

ระดับความเสี่ยง (Degree of Risk) ในตาราง Risk Assessment Matrix จะสะท้อนความรุนแรงของความเสี่ยงแต่ละปัจจัย โดยการคำนวณด้วยการบวกหรือการคูณคะแนนของทั้ง 2 ปัจจัยออกมาเป็นคะแนนความเสี่ยง (ตัวอย่างในบทความนี้เราจะใช้การคูณ)

จากตัวอย่าง Risk Matrix แบบ 5X5 จะมีช่วงคะแนนความเสี่ยง 4 ระดับ ดังนี้

  • ความเสี่ยงต่ำ (ระดับ 1-2 คะแนน) คือ ระดับความเสี่ยงที่รับได้ และแทบไม่ส่งผลใด ๆ
  • ความเสี่ยงปานกลาง (ระดับ 3-9 คะแนน) คือ ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ อาจส่งผลกระทบแต่ไม่ร้ายแรง
  • ความเสี่ยงสูง (ระดับ 10-19 คะแนน) คือ ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน มักเป็นความเสี่ยงที่โอกาสเกิดสูงแต่ความรุนแรงต่ำ หรือมีความรุนแรงสูงแต่เกิดขึ้นได้ยาก
  • ความเสี่ยงสูงมาก (20 คะแนนขึ้นไป) คือ ระดับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่มีผลรุนแรงอีกทั้งยังเกิดขึ้นได้ง่าย

ตารางประเมินความเสี่ยง บอกอะไร?

การประเมินความเสี่ยง ด้วยตารางประเมินความเสี่ยง Risk Assessment Matrix (หรือด้วยเครื่องมือประเมินความเสี่ยงใดก็ตาม) จะแสดงให้เห็นความรุนแรงของความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยและระดับความสำคัญของความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยที่องค์กรควรจะจัดการก่อนหลัง

โดยวิธีจัดการความเสี่ยงหากพิจารณาจากผลการวิเคราะห์ Risk Assessment Matrix จะสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลยุทธ์การตอบสนองต่อความเสี่ยง (Risk Response) ได้แก่

  • การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) คือ การไม่ทำอะไรกับความเสี่ยงเนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยง แต่อาจใช้กลยุทธ์ร่วมลงทุนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแชร์ความเสี่ยง (Risk Sharing) ที่เกิดขึ้น
  • การลดความเสี่ยง (Risk Control) คือ การควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงลุกลามเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นซึ่งนำไปสู่ปัญหาในอนาคต ด้วยการกำจัดความเสี่ยง (Risk Elimination) หรือ ลดความเสี่ยง (Risk Reduction)
  • การถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) คือ การถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังบุคคลที่ 3 ในรูปแบบที่คล้ายกับการประกันภัย
  • การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) คือ การหลีกเลี่ยงทางเลือกที่นำไปสู่ความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงเกิดขึ้น

ซึ่งวิธีตอบสนองความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกันจะเหมาะกับกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงสูงหรือสูงมาก หากเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดสูงมากและเป็นปัจจัยที่องค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กลยุทธ์การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance) เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด