หน้าแรก » ธุรกิจ » การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response) ในการบริหารความเสี่ยง

การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response) ในการบริหารความเสี่ยง

บทความโดย safesiri
การตอบสนองความเสี่ยง Risk Response คือ กลยุทธ์ ตอบสนอง ความเสี่ยง บทความ

การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงโดยเลือกใช้วิธีการตอบสนองความเสี่นงที่เหมาะสมกับผลการประเมินความเสี่ยงที่พิจารณาจากโอกาสในการเกิดความเสี่ยงและความรุนแรงของผลกระทบจากความเสี่ยง

โดยการตอบสนองความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในลำดับสุดท้ายของการบริหารความเสี่ยงหลังจากที่ทราบถึงความสำคัญและความรุนแรงของความเสี่ยงจากการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Assessment) ด้วยข้อมูลความเสี่ยงที่ผู้วิเคราะห์ได้ระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไว้

เมื่อทราบถึงความสำคัญของแต่ละความเสี่ยงแล้วจะทำให้ผู้วิเคราะห์ความเสี่ยงเลือกวิธีการตอบสนองความเสี่ยงได้จากกลยุทธ์ 4 รูปแบบ เรียกว่า 4Ts of Risk Management หรือ 4Ts’ Hazard Management ซึ่งแต่ละวิธีใน 4T คือ

  • Tolerate คือ การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance)
  • Treat คือ การลดความเสี่ยง (Risk Control)
  • Terminate คือ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Avoidance)
  • Transfer คือ การถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer)

การเลือกใช้กลยุทธ์การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response) ที่เหมาะสม จะพิจารณาจากโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง (Likelihood) และผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) ในแต่ละปัจจัย ที่สามารถแสดงเป็น Risk Response Matrix ได้ดังนี้

4T คือ Risk Response คือ การตอบสนองความเสี่ยง Risk Response Matrix
Risk Response Matrix ที่แสดงวิธีการตอบสนองความเสี่ยงทั้ง 4 วิธี

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้วิธีการตอบสนองความเสี่ยงใน Risk Response Matrix เป็นเพียงวิธีการเบื้องต้นในการจัดการความเสี่ยงทั่วไปเท่านั้น ในทางปฏิบัติคุณอาจพบว่าความเสี่ยงบางรายการอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้การตอบสนองความเสี่ยงเหมือนกับในตาราง Risk Response Matrix และในบางสถานการณ์คุณอาจพบว่าคุณสามารถเลือกใช้วิธีการตอบสนองได้เพียงรูปแบบเดียวในปัญหาที่คุณเผชิญเท่านั้น

Risk Acceptance

Risk Acceptance คือ การตอบสนองความเสี่ยงโดยการไม่ทำอะไรกับความเสี่ยง (Tolerate) จากการที่ต้นทุนในการจัดการความเสี่ยงนั้นสูงเกินไปหรือไม่สามารถจำกัดความเสี่ยงดังกล่าวและหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีใดได้เลย จึงทำให้จำเป็นต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างเช่น การที่บรรษัทข้ามชาติจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศบางประเทศที่มีความเสี่ยงทางด้านการเมือง กฎหมาย และข้อบังคับต่าง ๆ อย่างจีนและเวียดนามในอดีตที่ต้องอาศัยการ Joint Venture เพื่อเข้าสู่ตลาดของบรรษัทข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) สามารถใช้วิธีการร่วมมือกับบุคคลอื่นเพื่อแชร์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ (Risk Sharing) เพื่อลดความเสี่ยง และใช้การระมัดระวังอย่างเข้มงวดเพื่อลดความเสียงที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Risk Control

Risk Control คือ การตอบสนองต่อความเสี่ยงโดยการควบคุมความเสี่ยง (Treat) เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในการควบคุมให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงลุกลามเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นและกลายเป็นปัญหาในอนาคต

โดยกลยุทธ์ Risk Control แบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การกำจัดความเสี่ยง (Risk Elimination) และการลดความเสี่ยง (Risk Reduction)

  • การกำจัดความเสี่ยง (Risk Elimination) ทั้งหมดออกไปโดยการไม่ทำสิ่งที่นำไปสู่ความเสี่ยง
  • การลดความเสี่ยง (Risk Reduction) คล้ายกับการกำจัดความเสี่ยง เพียงแต่การลดความเสี่ยงจะลดความเสี่ยงได้บางส่วนเท่าที่ทำได้เนื่องจากไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง

Risk Avoidance

Risk Avoidance คือ การตอบสนองความเสี่ยงโดยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ความเสี่ยงเกิดขึ้น (Terminate) โดยการเลี่ยงทางเลือกหรือเหตุที่นำไปสู่ความเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้นหากเลือกทางนั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อบริษัท A ระบุได้ว่าในกระบวนการทำงานหนึ่งที่ไม่มีความจำเป็นมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดอัคคีภัยที่นำไปสู่ความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงมาก บริษัท A จึงเลิกกระบวนการทำงานดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอัคคีภัยและหันไปใช้วิธีอื่นแทนที่ให้ผลลัพธ์เหมือนกัน

Risk Avoidance เป็นวิธีการตอบสนองความเสี่ยงที่เป็นพื้นฐานที่สุดของการตอบสนองความเสี่ยงทั้ง 4 รูปแบบ

Risk Transfer

Risk Transfer คือ การตอบสนองความเสี่ยงด้วยการถ่ายโอนความเสี่ยงไปสู่บุคคลที่ 3 เป็นวิธีจัดการความเสี่ยงที่คุ้นเคยกันในรูปแบบขอการประกันภัย (Insurance) ที่ถ่ายโอนความเสี่ยงจากผู้ทำประกันภัย (ผู้เอาประกัน) ไปยังบริษัทประกันภัย โดยมีค่าเบี้ยประกันเป็นข้อแลกเปลี่ยน

นอกจากนั้น การจัดการความเสี่ยงด้วยวิธี Risk Transfer ที่ถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้กับบุคคลที่ 3 ยังรวมไปถึงการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงที่มีเงื่อนไข อย่างสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Future Contract) และตราสารสิทธิ (Options) ในการป้องกันความไม่แน่นอนด้านราคา

ตัวอย่างการตอบสนองความเสี่ยงด้วยวิธีการถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) เช่น บริษัทที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถ่ายโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อสินค้าทั้งจากความเสียหายในการขนส่งและการสูญหายของสินค้าระหว่างขนส่ง ด้วยการทำประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) ซึ่งค่าประกันการขนส่งทางทะเลดังกล่าวจะถูกรวมเอาไว้ในราคาที่มีการใช้ Incoterm ในเงื่อนไขแบบ CIF (Cost Insurance and Freight)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด