หน้าแรก » การเงิน » ความเห็นผู้สอบบัญชี 4 ประเภท คืออะไร? มีความหมายอย่างไร

ความเห็นผู้สอบบัญชี 4 ประเภท คืออะไร? มีความหมายอย่างไร

บทความโดย safesiri
ความเห็นผู้สอบบัญชี คือ ความเห็นผู้สอบบัญชี 4 ประเภท Auditor Opinion

รายงานทางการเงินเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งความเห็นผู้สอบบัญชี (Auditor’s Opinion) เป็นสิ่งที่สะท้อนความถูกต้องของรายงานทางการเงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจความเห็นผู้สอบบัญชี

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ความเห็นผู้สอบบัญชี 4 ประเภท ว่ามีความหมายอย่างไรบ้างและสะท้อนอะไร

ความเห็นผู้สอบบัญชี คืออะไร?

ความเห็นผู้สอบบัญชี คือ ข้อความที่เขียนขึ้นโดยนักบัญชีที่เป็นบุคคลอิสระจากบริษัทที่ได้รับการรับรอง เป็นข้อความที่แสดงความเห็นในมุมมองเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลที่มีอยู่ในรายงานทางการเงินดังกล่าวว่ามีระดับความถูกต้องเหมาะสมอย่างไรบ้าง

โดยความเห็นผู้สอบบัญชี (Auditor’s Opinion) เป็นสิ่งที่จะช่วงบ่งบอกถึงความถูกต้องของงบการเงินของบริษัทให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้รับทราบ ซึ่งความเห็นของผู้สอบบัญชี 4 ประเภท มีดังนี้

  1. ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข (Unqualified Opinion)
  2. ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Qualified Opinion)
  3. งบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion)
  4. ไม่แสดงความเห็น (Disclaimer of Opinion)

ซึ่งความเห็นผู้สอบบัญชี 4 ประเภทจะเกิดขึ้นตามผลการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี (Auditor) ที่แตกต่างกันตามข้อเท็จจริงของงบการเงินที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้รับรู้

ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข (Unqualified Opinion)

ความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข (Unqualified Opinion) คือ งบการเงินที่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นตามหลักบัญชีที่ได้รับการรับรอง

เป็นความเห็นของผู้สอบบัญชีที่ดีที่สุดจากทั้ง 4 ประเภท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ควรระวังคือคำว่าถูกต้องเป็นเพียงความถูกต้องตามสาระสำคัญตามหลักบัญชีเท่านั้น ดังนั้นในความเป็นจริงอาจมีความผิดพลาดที่ไม่ใช่สาระสำคัญตามหลักบัญชีซ่อนอยู่ก็ได้

ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Qualified Opinion)

ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Qualified Opinion) คือ ผู้สอบบัญชีพบความไม่ถูกต้องหรือความไม่แน่นอนบางอย่างจากข้อมูลของงบการเงิน

โดยปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากข้อมูลในงบการเงินขัดกับข้อเท็จจริงไม่กี่รายการ หรืออาจมีหลักฐานไม่เพียงพอในการสนับสนุนความเห็นได้ในขณะที่เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญ

งบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion)

งบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion) คือ การที่ผู้จัดทำบัญชีทำงบการเงินไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการแก้ไขข้อมูลจากผู้ที่จัดทำบัญชี โดยข้อมูลขัดกับข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ

โดยผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นเอาไว้ว่างบการเงินของบริษัทมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในส่วนใดบ้าง

จึงเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุน ผู้ให้กู้ และสถาบันการเงินอื่น ๆ มักจะปฏิเสธงบการเงินที่นักบัญชีให้ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion)

ไม่แสดงความเห็น (Disclaimer of Opinion)

ไม่แสดงความเห็น (Disclaimer of Opinion) คือ ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นได้ว่างบการเงินถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ผู้บริหารไม่ให้ความร่วมมือ หรือตรวจสอบได้ลำบากด้วยเหตุผลบางอย่างแม้ว่าผู้สอบบัญชีพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด