หน้าแรก » ธุรกิจ » Culture Shock คืออะไร? ทำไมเกิดขึ้นและวิธีจัดการ

Culture Shock คืออะไร? ทำไมเกิดขึ้นและวิธีจัดการ

บทความโดย safesiri
Culture Shock คือ อาการ ความตื่นตระหนก ทางวัฒนธรรม วิธีแก้ ตัวอย่าง

Culture Shock คือ อาการตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม เป็นอาการที่เกิดจากความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปจากวัฒนธรรมเดิมที่เคยอยู่ เกิดขึ้นหลังจากผู้ที่มีอาการ Culture Shock ต้องย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากเดิม

อาการตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม หรือ Culture Shock เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปทำงานในต่างประเทศในลักษณะของ Expatriate หรือการไปเรียนต่อในต่างประเทศก็ตาม ซึ่งเป็นอาการที่มีต้นตอมาจากทั้งความไม่คุ้นเคยในเรื่องการทักทาย การแสดงออก ภาษากาย น้ำเสียงที่ใช้ในการพูด การแสดงความรู้สึกออกมาทางสีหน้า ทัศนคติของคนในวัฒนธรรมนั้น ตลอดจนเรื่องอาหารการกิน

การใช้เท้าในประเทศตะวันตกที่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับวัฒนธรรมไทย (และหลายประเทศในเอเชีย) มองว่าการใช้เท้าเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพเพราะถือว่าเท้าเป็นของต่ำ การพบเจอชาวต่างชาติที่มีการใช้เท้าจึงเป็นสิ่งที่บางครั้งอาจไม่น่าพึงพอใจและน่าอึดอัดสำหรับบางคน

การทักทายด้วยการกอดที่เป็นเรื่องปกติของชาวตะวันตก แต่ชาวเอเชียอาจมองว่าเป็นการถึงเนื้อถึงตัวกันเกินไป ดังนั้นแล้วเมื่อชาวเอเชียต้องเผชิญกับการกอดบ่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงนำไปสู่ความอึดอัดและความระแวงที่ไม่รู้ว่าจะต้องกอดกับใครเมื่อไหร่อีก

หรือตัวอย่างสุดท้ายที่พบได้บ่อย คือ ความระแวงของการข้ามทางม้าลาย ที่ในต่างประเทศรถจะหยุดให้ผู้ที่เดินเท้าข้ามถนนก่อน แต่ในไทยคุณมีโอกาสถูกรถชนเมื่อข้ามทางม้าลายโดยไม่ระวังแม้ว่าจะมีสัญญาณไฟให้ข้ามได้ก็ตาม

จะเห็นได้ว่าสำหรับหลายคนเมื่อเจอเหตุการณ์ในลักษณะที่ไม่คุ้นเคยเหล่านี้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่พอรับได้ แต่อย่างไรก็ตามการย้ายเข้าไปสู่วัฒนธรรมใหม่ ความไม่คุ้นเคยเหล่านี้จะถาโถมเข้ามาพร้อมกันนับสิบนับร้อยรูปแบบอย่างต่อเนื่องแบบที่คุณไม่ได้มีเวลาพัก ซึ่งความไม่คุ้นชินนี้เองที่นำไปสู่อาการ Cultur Shock

4 ระยะของอาการ Culture Shock

โดยอาการ Culture Shock จะสามารถแสดงกระบวนการเกิดขึ้นด้วย 4 ระยะของอาการ Culture Shock หลังจากย้ายไปอยู่ในต่างวัฒนธรรม ซึ่งกราฟ Culture Shock 4 ระยะจะใช้ในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดการเกิด Culture Shock

กราฟ Culture Shock คือ ระยะ
กราฟ 4 ระยะที่ใช้อธิบายอาการ Culture Shock

Honeymoon คือช่วงแรกหลังจากที่ย้ายไปอยู่ต่างวัฒนธรรมที่ยังคงมองเรื่องใหม่ๆ ที่ได้พบเจอ เป็นความตื่นเต้น เนื่องจากไม่เคยเห็นหรือไม่เคยใช้ชีวิตแบบนี้มาก่อน Culture Shock จะเกิดขึ้นหลังจากช่วงที่ตื่นเต้นกับการได้พบเจอสิ่งใหม่ในช่วงนี้

Culture Shock เป็นระยะที่เกิดขึ้นหลังจากความตื่นเต้นต่อสิ่งใหม่ในช่วง Honeymoon หมดลง แล้วพบว่าวัฒนธรรมใหม่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่คุ้นชิน

Adjustment คือช่วงของการปรับตัว ในช่วงนี้ผู้ที่มีอาการ Culture Shock จะเริ่มรับอะไรๆ หลายอย่างได้บ้างแล้ว จากการที่ตระหนักรู้ว่าวัฒนธรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้หรือเป็นเรื่องปกติ และในบางกรณีอาจปลีกตัวออกจากวัฒนธรรมนั้น (ถ้าหากว่าทำได้)

ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถพ้นช่วง Adjustment ในบางกรณีก็อาจจำเป็นต้องกลับประเทศแม่ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยกับการส่งพนักงานหรือ Expat ไปประจำในสาขาต่างประเทศโดยไม่มีการเตรียมตัว ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงาน และ/หรือ ค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า

Adaptation เป็นระยะที่ 4 ที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อสามารถปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ได้แล้ว ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในวัฒนธรรมใหม่

นอกจากนั้น เมื่อคุณสามารถเอาชนะอาการและเข้าสู่ขั้น Adaptation ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องย้ายกลับมากยังประเทศเดิมก็ยังสามารถเกิดอาการ Culture Shock กับประเทศเก่าได้ด้วยเช่นกัน เรียกว่าอาการ Reverse Culture Shock

วิธีรับมือ Culture Shock

อย่างที่เรารู้กันแล้วว่า Culture Shock มีสาเหตุจากความไม่คุ้นเคยทางวัฒนธรรมจากที่ต้องพบเจอวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ และอาจเรียกได้ว่าเป็นอาการไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมใหม่ ดังนั้นวิธีการรับมือ Culture Shock จึงเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาอย่างการปรับตัวหรือเปิดใจยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่าง และการเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ไม่พอใจได้

ดังนั้น วิธีการที่ดีสุดสำหรับใครที่กังวลในเรื่องของ Culture Shock อย่างน้อยที่สุดก่อนที่จะย้ายไปอยู่ต่างวัฒนธรรม ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นก่อน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะต้องเผชิญความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยเพื่อลดอาการ Culture Shock ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ตื่นตระหนกมากนัก

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด