หน้าแรก » ธุรกิจ » ECRS คืออะไร? ลดความสูญเปล่าได้อย่างไร

ECRS คืออะไร? ลดความสูญเปล่าได้อย่างไร

บทความโดย safesiri
ECRS คือ ทฤษฎี ECRS วิจัย ตัวอย่าง ECRS

ECRS คือ แนวคิดในการลดความสูญเปล่าในการดำเนินงาน (Waste) ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่สร้างผลตอบแทนหรือประโยชน์ให้กับองค์กร ด้วย 4 หลักการ ได้แก่ Eliminate (การกำจัด) Combine (การรวม) Rearrange (การจัดเรียงใหม่) และ Simplify (การทำให้ง่ายขึ้น)

โดยประโยชน์หลักของแนวคิด ECRS คือการลดความสูญเปล่า (Waste) ที่ไม่สร้างผลตอบแทนหรือประโยชน์ใด ๆ เพิ่มเติมให้กับองค์กร และในบางกรณีอาจทำให้การดำเนินงานช้าลงจากที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากวามสูญเปล่าเหล่านั้น

ซึ่งในส่วนของการนำ หลักการ ECRS มาใช้ ถึงแม้ว่า ECRS จะแบ่งเป็น 4 หลักการ แต่ผู้ใช้อาจนำทฤษฎี ECRS มาใช้เพียงตัวเดียวหรือมากกว่าตัวเดียวก็ได้ ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้ทุกตัวทุกวิธีพร้อมกัน

จะเห็นว่าโดยพื้นฐาน หลักการ ECRS เป็นหลักการที่คล้ายคลึงกันกับ Kaizen และมีเป้าหมายเดียวกันกับ Kaizen คือการลดการดำเนินงานที่สูญเปล่าไม่เกิดประโยชน์ (Waste)

Eliminate (กำจัด)

Eliminate คือ ตัวแรกของ ECRS เป็นการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นในกระบวนการดำเนินงานหรือในระบบออกไป เพื่อลดระยะเวลาในการทำงานให้สั้นลง

ตัวอย่างขั้นตอนที่ต้องกำจัด (Eliminate) เช่น การทำรายงานที่บริษัทไม่ได้นำข้อมูลมาใช้เลยหรือเป็นรายงานที่มีข้อมูลซ้ำซ้อนกับรายงานอื่นของบริษัท (ทำพอเป็นพิธี หรือทำเพราะคนรุ่นก่อนทำกันมา)

เพราะการดำเนินงานที่มีขั้นตอนมากเกินความจำเป็นจะทำให้กระบวนการดำเนินงานยาวขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น และการที่มีขั้นตอนซับซ้อนยังทำให้มีโอกาสผิดพลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

Combine (รวม)

Combine คือ การหาวิธีรวมงานเข้าด้วยกันเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน (ด้วยการรวมขั้นตอน) ซึ่งในบางกรณียังช่วยลดจำนวนแรงงานที่ต้องใช้ของงานนั้นอีกด้วย

อย่างเช่น การรวมเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องและใกล้เคียงกันเอาไว้ในแผ่นเดียว เพื่อลดระยะเวลาทำเอกสารซ้ำซ้อน

อีกหนึ่งตัวอย่างของการ Combine คือ ระบบ Milk Run ที่เป็นการรับพร้อมกับส่งสินค้าในรอบเดียวกันแทนที่จะแยกเป็น 2 งาน เพื่อลดต้นทุนจากการขับรถเปล่ากลับ

Rearrange (จัดใหม่)

Rearrange หมายถึง การจัดเรียงใหม่ จัดลำดับความสำคัญในการทำงานใหม่ให้ง่ายขึ้น เพราะบางครั้งขั้นตอนการทำงานที่ใช้มาโดยตลอดอาจช้ากว่าขั้นตอนแบบใหม่ที่สลับขั้นตอนการทำงานเพียงเล็กน้อย

ตัวอย่างเช่น การจัดลำดับของชิ้นส่วนในไลน์การผลิตใหม่เพื่อลดความผิดพลาดในการหยิบผิดจนนำไปสู่ความผิดพลาดในการผลิต ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการผลิตน้อยลง (ทำให้ไม่ต้องคอยกลับมาแก้ปัญหา)

Simplify (ทำให้ง่าย)

Simplify คือ การปรับปรุงวิธีการทำงานให้ง่ายขึ้น เพื่อลดระยะเวลาในการทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น เพราะการทำงานที่ซับซ้อนนอกจากจะใช้เวลานานยังมีโอกาสผิดพลาดจากความซ้ำซ้อนเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น การจัดวางเครื่องมือให้สะดวกต่อการทำงาน หรือ การวางสินค้าที่ต้องส่งมอบให้ลูกค้าบ่อยๆ ไว้ในจุดที่สามารถขนย้ายออกได้ง่าย เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด