หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » Liquidity Coverage Ratio (LCR) ในการป้องกันวิกฤตสภาพคล่อง

Liquidity Coverage Ratio (LCR) ในการป้องกันวิกฤตสภาพคล่อง

บทความโดย safesiri
Liquidity Coverage Ratio คือ LCR คือ อัตราส่วนคุ้มครองสภาพคล่อง ธนาคารพาณิชย์ การเปิดเผยข้อมูล การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง LCR Disclosure

Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR คือ อัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรงที่ธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินกันเงินฝากเอาไว้ส่วนหนึ่งเผื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้น

เป้าหมายของการ Liquidity Coverage Ratio หรือ อัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้นของธนาคารกลาง มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

สำหรับในประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ได้มีการกำหนดให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ มีการเปิดเผยข้อมูลการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง LCR Disclosure

สภาพคล่องของสถาบันการเงินที่ซ่อนอยู่

สำหรับเหตุรุนแรงด้านสภาพคล่องที่ทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศจำเป็นต้องป้องกัน และกำหนดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรงดังกล่าวโดยทั่วไปคือความเสี่ยงจาก Bank Run ที่ผู้ฝากเงินต่างตื่นตระหนกและแห่ถอนเงินจนธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่องที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ (หรือขาดทุนอย่างหนัก) ในภาวะวิกฤต ที่นำไปสู่ผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้างสู่ระบบเศรษฐกิจ

เมื่อสภาพคล่อง (Liquidity) ที่เป็นสิ่งที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินเกิดปัญหา หรืออธิบายให้เห็นภาพกว่านั้นคือเมื่อคุณไปธนาคารเพื่อถอนเงินแล้วธนาคารไม่มีเงินให้ถอน คุณก็ย่อมกังวลว่าเงินที่ฝากไว้จะหายไปเพราะธนาคารน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่าง (จึงทำให้ไม่สามารถถอนเงินได้) ซึ่งนำไปสู่วิกฤตความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน

เมื่อข่าวถูกแพร่กระจายออกไปจนถึงผู้ฝากเงินคนอื่น ๆ จำนวนผู้ฝากที่ตื่นตระหนกก็จะเพิ่มขึ้นเกินไปกว่าภาวะปกติที่จะมีผู้ฝากเข้ามาถอนเงิน และในท้ายที่สุดเมื่อผู้ฝากแห่กันมาถอนเงินที่ธนาคารในปริมาณที่เพิ่มขึ้นขะทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องก็จะไปสู่การล้มละลายในที่สุด

จากกรณีตัวอย่าง แท้จริงแล้วธนาคารไม่มีเงินจ่ายจริงหรือไม่? คำตอบคือไม่ เพียงแต่สินทรัพย์เหล่านั้นของธนาคารถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นเพื่อหาผลตอบแทนมาจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากและเพื่อเป็นกำไรของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือการปล่อยกู้ก็ตาม แต่ปัญหาของการนำเงินไปลงทุนคือการที่สินทรัพย์เหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการเปลี่ยนให้เป็นเงินสด และแทบจะไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินได้ทันทีที่ผู้ฝากต้องการถอนโดยไม่ยอมขายขาดทุน

เป้าหมายของ Liquidity Coverage Ratio

เพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะดังกล่าวที่เราได้หยิบยกมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) และธนาคารกลาง (Central Bank) ของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการการกำหนด Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR หรือมาตราการใดก็ตามที่มีลักษณะเดียวกันในชื่ออื่น เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพคล่องดังกล่าวให้ได้ในระยะแรกของวิกฤต

อย่างเป้าหมายในเบื้องต้นของเกณฑ์ Liquidity Coverage Ratio หรือ LCR ที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ คือ การทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่อง (มีเงิน) เพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนในช่วงวิกฤตบางอย่างได้ประมาณ 30 วัน ด้วยการใช้สภาพคล่องที่เหลือไว้ตามอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่กำหนด

โดยในปี 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับประมาณการไหลออกของกระแสเงินสดสุทธิใน 30 วัน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60% และเพิ่ม 10% ต่อปี จนครบ 100% ในปี 2563 โดยได้กำหนดให้สถาบันการเงินจะต้องเปิดเผยข้อมูล ดังนี้

  • อัตราส่วน LCR ของสถาบันการเงิน
  • ปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้น
  • ประมาณการไหลออกของกระแสเงินสดสุทธิใน 30 วัน

พร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับข้อมูล LCR และการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์บนเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ทุก 6 เดือน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดสามารถเห็นได้ว่าธนาคารและสถาบันการเงินมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage ratio : LCR) อยู่ในระดับเท่าไหร่ รวมถึงรับรู้ข้อมูลอื่นที่มีนัยยะสำคัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด