หน้าแรก » การตลาด » Pain Point คืออะไร? ทำไมนักการตลาดต้องหา ให้เจอ

Pain Point คืออะไร? ทำไมนักการตลาดต้องหา ให้เจอ

บทความโดย safesiri
Pain Point คือ จุดเจ็บปวด วิธีหา Pain Point การตลาด ลูกค้า พฤติกรรมผู้บริโภค

Pain Point คือ ปัญหาของลูกค้าที่เกิดจากสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ลูกค้าไม่ชอบหรือทำให้ใช้ชีวิตลำบากขึ้น จนทำให้ลูกค้าต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแก้ไขปัญหาที่ว่าคือการซื้อสินค้าหรือใช้บริการบางอย่างที่สามารถแก้ปัญหานั้นได้

กล่าวคือ Pain Point เป็นปัญหาที่ลูกค้ากำลังพบเจอและต้องการแก้ไขที่จะนำไปสู่การซื้อสินค้าที่สามารถแก้ปัญหาได้มาใช้แก้ปัญหา เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Customer Journey ที่จะพาลูกค้าไปสู่ขั้นตอนการหาข้อมูลและการเลือกซื้อสินค้ามาตอบสนองปัญหา

ดังนั้น หน้าที่ของนักการตลาดคือการค้นหา Pain Point ของลูกค้าให้ได้ว่าลูกค้ากำลังมีปัญหาเรื่องอะไร ต้องการแก้ไขอย่างไร หรืออาจนำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา (Pain Point) ให้กับลูกค้า

โดยเบื้องต้น Pain Point หรือ ปัญหาของลูกค้า สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. Pain Point จากจุดอ่อนของสินค้าหรือบริหารที่มีอยู่แล้วที่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ หรือแก้ปัญหาเก่าได้ไม่ดีพอ
  2. Pain Point จากปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขมาก่อน

เดิมทีคำว่า Paint Point หรือ จุดเจ็บปวด เป็นการเล่นคำของนักการตลาดจากคำว่า Pain ที่แปลว่าความเจ็บปวด และคำว่า Point ที่แปลว่าจุด เพื่อใช้เรียกจุดที่กำลังเป็นปัญหาและสิ่งนั้นกำลังทำให้ลูกค้ากำลังเจ็บปวดกับบางสิ่งอยู่

ค้นหา Pain Point อย่างไรได้บ้าง?

การหา Pain Point ของลูกค้า คือ การค้นหาสิ่งใดก็ตามที่ลูกค้ากำลังประสบปัญหาอยู่ และนำเสนอสินค้าหรือบริการที่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ การค้นหา Pain Point จึงเป็นการค้นหาปัญหาของลูกค้าด้วยวิธีใดก็ได้ที่ทำให้ทราบถึงปัญหาของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจ การสังเกต การทำแบบสอบถาม การวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งการถามคำถามง่าย ๆ จากผู้ใช้งาน

ทั้งนี้ เมื่อนักการตลาดสามารถค้นหา Pain Point ได้แล้ว ในขั้นต่อไปนักการตลาดควรจะสามารถตอบคำถามดังต่อไปนี้ได้ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างคุณค่าในการตอบสนอง Pain Point ของลูกค้า

  • ปัญหาอะไร อะไรทำให้เกิดปัญหา
  • ผลลัพธ์ควรออกมาเป็นอย่างไรหลังจากแก้ปัญหา
  • จะแก้ไขปัญหาจาก Pain Point อย่างไร

ประโยชน์ของการหา Pain Point

ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ มาจากอีกแบรนด์ที่สินค้าเกิดปัญหาหรือ Pain Point บางอย่างที่ไม่ได้รับการแก้ไขจนลูกค้าเหล่านั้นมองว่าแบรนด์เก่าคือปัญหา และจากลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข Pain Point มาก่อน

ถ้าแก้ได้จริงมีแนวโน้มสูงมากที่ลูกค้าจะกลับมาใช้ ยิ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีสินค้าทดแทน โอกาสกลับมาซื้ออีกเมื่อลูกค้ามีปัญหาแทบจะเป็น 100% เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าอย่างไรก็จะเกิดขึ้นต่อไปและลูกค้าไม่มีตัวเลือก

ความได้เปรียบในการแข่งขันจากจุดเด่นด้านความแตกต่าง (Differentiation) ในกรณีที่สามารถแก้ Pain Point ได้ก่อนแบรนด์อื่น ประโยชน์ที่ได้คือจำนวนคู่แข่งน้อยที่น้อยกว่า และการที่ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ได้ ทำให้ธุรกิจสามารถตั้งราคาได้สูง

ตัวอย่าง Pain Points

ผู้หญิงต้องการเล่นน้ำสงกรานต์ทั้งที่ยังแต่งหน้า Pain Point คือเครื่องสำอางจะหายไปเมื่อโดนน้ำ แต่ถ้าจะเล่นสงกรานต์ยังไงก็ต้องโดนน้ำ ดังนั้น Pain Point ของลูกค้าผู้หญิงกลุ่มนี้คือ การที่เครื่องสำอางจะหายไปขณะเล่นน้ำสงกรานต์

วิธีแก้ Pain Point คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันน้ำที่ไม่ลอกออกง่ายเมื่อโดนน้ำ

ผู้ที่อยู่อาศัยคอนโดมักมีปัญหาจากเสียงรบกวนของข้างห้องและจากชุมชนรอบ Pain Point คือเสียงรบกวนของผู้อยู่อาศัยคอนโดคนอื่นและชุมชนโดยรอบ

วิธีแก้ Pain Point สามารถทำได้ด้วยการสร้างคอนโดที่ผนังหนาและใช้วัสดุที่เก็บเสียงได้ดี และเลือกทำเลที่ดีในการสร้างคอนโด เพื่อเน้นขายให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มด้วยราคาที่สูงขึ้น

แบรนด์ที่มี Social Media หลายช่องทาง จำเป็นที่จะต้องดูแลและอัปเดต Content ทุกช่องทางพร้อมกัน Pain Point จึงเป็นการที่ต้องดูแลทีละช่องทาง ทำให้เสียเวลาค่อนข้างมากในการโพสเรื่องเดียวกันหลายช่องทาง

วิธีแก้ Pain Point ของแบรนด์คือการใช้เครื่องมือในการจัดการโซเชียลมีเดีย (Social Media Management Tools) ที่ทำให้ Admin สามารถดูแลและอัพเดทบทความได้ทุกช่องทางพร้อมกัน อย่างเช่น Hootsuit

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด