หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » Required Reserve Ratio (RRR) อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง

Required Reserve Ratio (RRR) อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง

บทความโดย safesiri
Required Reserve Ratio คือ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง RRR ธนาคารกลาง อัตราส่วนสำรอง สภาพคล่อง

เคยสงสัยไหมว่า ธนาคารที่เราฝากเงินไว้ทุกวันนี้เอาเงินจำนวนมหาศาลเหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง? แน่นอนว่าไม่ใช่เก็บไว้ใต้ตู้เซฟหรือนำไปลงทุนเพียงอย่างเดียว! เพราะแท้จริงแล้วธนาคารมีกฎที่สำคัญข้อหนึ่งนั่นคือ “การคงสภาพคล่อง” ซึ่งหมายถึงการต้องเก็บเงินสำรองบางส่วนเอาไว้เสมอ ในบทความนี้เราจะพาไปเจาะลึกถึง “Required Reserve Ratio” หรือ “อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง” ว่ามันคืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและการเงินส่วนบุคคลของคุณบ้าง

Required Reserve Ratio คืออะไร?

Required Reserve Ratio คือ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เป็นอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำตามกฎหมายที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เก็บสำรองเงินฝากขั้นต่ำเอาไว้กับตัว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสำรองเอาไว้ในรูปเงินสดหรือฝากไว้กับธนาคารกลาง

ตัวอย่าง ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนด Required Reserve Ratio หรือ RRR เอาไว้ที่ 3% หมายความว่าทุกเงินฝาก 100 บาทที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับมาจากผู้ที่เข้ามาฝากเงิน ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้จะต้องสำรองเงินฝากเอาไว้ 3 บาท

และส่วนที่เหลือจาก 3 บาทที่ถูกหักไปเป็นเงินสำรองตามมาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง Required Reserve Ratio จะเรียกว่า เงินสำรองส่วนเกิน หรือ Excess Reserve ที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำไปใช้ในการลงทุนหากำไรให้กับธนาคาร อย่างเช่น การปล่อยกู้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการนำไปลงทุนในตลาดทุน เพื่อนำมาใช้เป็นกำไรและเป็นดอกเบี้ยให้กับผู้ฝาก

ปัจจุบัน Required Reserve Ratio ของประเทศทั่วโลกบางส่วนมีอัตราดังนี้

ทั้งนี้ Required Reserve Ratio อาจมีชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ทำให้คุณอาจจะสามารถพบได้ในชื่อ Reserve Requirements, Cash Reserve Ratio, Reserve Ratio, และ Minimum Reserve Requirements เป็นต้น

Required Reserve Ratio มีไว้ทำไม

มาถึงตรงนี้คุณอาจเกิดคำถามว่าทำไมธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศถึงบังคับให้ธนาคารพาณิชย์หักเงินที่ได้มาเก็บเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่ออะไร คำตอบคือ กฎ Required Reserve Ratio (RRR) มีไว้เพื่อลดความรุนแรงจากความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์เกิดขาดสภาพคล่องขึ้นมา หรืออยู่ ๆ ผู้ฝากเงินเกิดต้องการถอนเงินเป็นจำนวนมาก

เพราะถ้าหากว่าผู้ฝากจำนวนมากอยู่ ๆ แห่มาถอนเงินกับธนาคารพร้อมกันเป็นจำนวนมากในขณะที่ธนาคารไม่มีเงินสำรองเอาไว้ นั่นหมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่สามารถคืนเงินให้กับผู้ฝากได้ทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นของธนาคารดังกล่าว

ด้านผู้ฝากที่ไม่ได้รับเงินฝากคืน ก็จะเกิดความไม่มั่นในธนาคารพาณิชย์ธนาคารดังกล่าวและนำไปสู่การถอนเงินด้วยจำนวนที่มากขึ้น (แน่นอนว่าจะกลายเป็นข่าวดัง) และผลที่ตามมาคือ เมื่อประชาชนเห็นกรณีตัวอย่างแล้วว่ามีผู้ที่ถอนเงินไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขาบ้าง จึงนำไปสู่เหตุการณ์การแห่ถอนเงินที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะเกรงว่าตนจะสูญเสียเงินฝากทั้งหมดของพวกเขาไป

เหตุการณ์ทั้งหมดจะทำให้สถานการณ์ด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงกว่าเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาล้มละลายในท้ายที่สุดซึ่งทำให้ไม่มีใครได้เงินคืนไปมากกว่าจำนวนที่กฎหมายแต่ละประเทศคุ้มครองเงินฝาก เราเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า Bank Run

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์นั้นไม่ได้ล้มละลายจากปัญหาสภาพคล่องจากการแห่ถอนเงิน ธนาคารก็ยังจำเป็นที่จะต้องกู้เงินจากธนาคารกลางหรือธนาคารพาณิชย์อื่นมาคืน ซึ่งนำไปสู่ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย อีกทั้งธนาคารยังอาจจะจำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ที่ได้เข้าไปลงทุนไว้เพื่อนำเงินมาคืนก่อนถึงจุดที่สามารถทำกำไรได้อย่างเต็มที่ (หรือแม้กระทั่งการยอมขายขาดทุน) ซึ่งหมายถึงโอกาสในการทำกำไรที่ธนาคารจะต้องสูญเสียไปมากกว่าผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นตัวเลขที่เห็น

ทั้งหมดคือคำตอบของคำถามที่ว่ามาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องด้วย Required Reserve Ratio ของธนาคารกลางมีไว้ทำไม

การเพิ่ม/ลด RRR เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากการใช้มาตรการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องด้วย Required Reserve Ratio เพื่อการลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลางยังสามารถใช้การปรับเพิ่มและลด Required Reserve Ratio เพื่อกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

การเพิ่ม Required Reserve Ratio จะทำให้สัดส่วนเงินที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องถือสำรองเอาไว้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เงินสดสำรองส่วนเกิน (Excess Reserve) ที่ธนาคารสามารถนำไปใช้ปล่อยกู้และลงทุนได้น้อยลง ทำให้วิธีนี้ธนาคารกลางจะใช้เมื่อต้องการลดความร้อนแรงการลงทุนและลดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพื่อชะลอเงินเฟ้อ

การลด Required Reserve Ratio จะส่งผลให้สัดส่วนเงินที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องถือสำรองเอาไว้เมื่อได้รับเงินฝากลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองส่วนเกิน (Excess Reserve) สำหรับการลงทุนและปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อปริมาณการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจอีกทั้งความง่ายของการเข้าถึงเงินทุน เป็นวิธีที่ธนาคารกลางจะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น เปรียบเทียบได้กับการยอมเสี่ยงมากขึ้นเพื่อคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้นเวลาคุณลงทุน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด