หน้าแรก » การเงิน » งบกำไรขาดทุน คืออะไร? (Income Statement) บอกอะไรบ้าง

งบกำไรขาดทุน คืออะไร? (Income Statement) บอกอะไรบ้าง

บทความโดย safesiri
งบกำไรขาดทุน คือ Income Statement คือ บัญชี กำไร ขาดทุน

ปูพื้นฐาน บัญชีงบกำไรขาดทุน (Income Statement) งบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานของธุรกิจ และมาดูกันว่านอกจากผลกำไรขาดทุน ในงบกำไรขาดทุนบอกอะไรเราได้บ้าง

งบกำไรขาดทุน คืออะไร?

งบกำไรขาดทุน คือ งบการเงินในส่วนที่แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบบัญชีหนึ่ง โดยองค์ประกอบในงบกำไรขาดทุน (Income Statement) จะประกอบด้วย รายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรของกิจการ ซึ่งรายการในงบกำไรขาดทุนเหล่านี้จะแสดงให้เห็นผลการดำเนินงานของธุรกิจ

งบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นหนึ่งในงบการเงินสำคัญที่ธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของกิจการควบคู่กับงบการเงินอื่น ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงและแก้ไขการดำเนินงานของธุรกิจ ตลอดจนการใช้ประโยชน์อื่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละฝ่าย

แต่ละส่วนของงบกำไรขาดทุน (Income Statement) จะเกี่ยวข้องกับประเด็นต่อไปนี้

  • รายได้ (Income) ได้แก่ รายได้จากการขาย รายได้จากการเช่าหรือบริการ รายได้จากการลงทุน รายได้อื่นๆ
  • ค่าใช้จ่าย (Expenses) ได้แก่ ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และต้นทุนทางการเงิน
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) เมื่อธุรกิจมีกำไร
  • กำไร หรือ ขาดทุนสุทธิ (Profit or Loss) ที่แสดงผลการดำเนินงานของธุรกิจ

สำหรับความแตกต่างระหว่างต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร คือ การที่ต้นทุนขายคือต้นทุนที่เกี่ยวกับธุรกิจ อย่างเช่น ต้นทุนจากการซื้อปากกามาขาย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายคือต้นทุนที่เกิดจากการขาย อย่างเช่น ค่าแรงพนักงานขาย และโฆษณา และค่าใช้จ่ายในการบริหารคือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริหารกิจการ อย่างเช่น เงินเดือนของผู้จัดการสาขา

โดยรูปแบบของงบกำไรขาดทุน (Income Statement) จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ตามวิธีการจัดทำงบกำไรขาดทุน คือ งบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว (Single-step Income Statement) กับ งบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น (Multi-step Income Statement)

งบกำไรขาดทุน แบบขั้นเดียว

งบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว คือ งบกำไรขาดทุนแบบง่าย ที่จะเป็นการทำงบกำไรขาดทุนด้วยการแยกรายได้และค่าใช้จ่ายออกจากกัน แล้วทำการรวมรายได้ทั้งหมด เพื่อนำไปหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดครั้งเดียวเป็นกำไรหรือขาดทุนสุทธิในตอนท้าย

ข้อดีของการทำงบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว คือ ความเรียบง่ายและความสะอาดตาที่มากกว่า เมื่อเทียบกับงบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น แต่ก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านงบการเงินสับสนได้บ้าง

งบกำไรขาดทุน แบบหลายขั้น ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุนหลายขั้น
ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุน แบบขั้นเดียว

โดยแนวทางในการเขียน งบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว (Single-step Income Statement) จะมีวิธีการเขียนในลักษณะ ดังนี้

รายได้
รายได้จากการขาย
รายได้อื่น

ค่าใช้จ่าย
ต้นทุนขาย
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ต้นทุนทางการเงิน (พวกดอกเบี้ยจ่าย)

กำไรก่อนภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้

กำไร หรือ ขาดทุนสุทธิ

นอกจากนี้ งบกำไรขาดทุนแบบขั้นเดียว ยังเป็นรูปแบบของงบกำไรขาดทุนที่พบได้ในแบบ 56-1 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

งบกำไรขาดทุน แบบหลายขั้น

งบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น คือ รูปแบบของการทำงบกำไรขาดทุน ด้วยการแสดงรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายเป็นขั้น ๆ ซึ่งข้อดีของการทำงบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้นคือทำให้เห็นรายละเอียดของข้อมูลยอดขาย ต้นทุน และกำไรทั้งหมดอย่างชัดเจนเป็นลำดับขั้น

งบกำไรขาดทุน แบบหลายขั้น ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุน คือ Income Statement
ตัวอย่างหน้าตาของ งบกำไรขาดทุน แบบหลายขั้น (แบบคร่าว ๆ)

โดยแนวทางในการเขียน งบกำไรขาดทุนแบบหลายขั้น (Multi-step Income Statement) จะมีวิธีการเขียนในลักษณะ ดังนี้

รายได้:
รายได้จากการขาย
รายได้อื่น
รวมรายได้

ค่าใช้จ่าย:
หัก ต้นทุนขาย
กำไรขั้นต้น
หัก ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
กำไรจากการดำเนินงาน

บวก รายได้อื่น
หัก ค่าใช้จ่ายอื่น
กำไรก่อนหักภาษีเงินได้
หัก ภาษีเงินได้
กำไร หรือ ขาดทุนสุทธิ

งบกำไรขาดทุนบอกอะไรบ้าง?

งบกำไรขาดทุนให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับผลประกอบการทางการเงินของธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ (หรือหน่วยธุรกิจ) และประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทจากภาพรวมของงบกำไรขาดทุน การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุน เจ้าหนี้ คู่ค้า ลูกค้า และผู้บริหาร สามารถให้ข้อมูลในประเด็นต่อไปนี้

  • แนวโน้มรายได้ของบริษัทและการเติบโต โดยการเปรียบเทียบในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • โครงสร้างต้นทุนและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน
  • สัดส่วนกำไรในแต่ละส่วนของการดำเนินงานของกิจการ
  • การนำข้อมูลการทำกำไรไปใช้เปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน (หรือเกี่ยวข้อง)
  • ประเมินอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ โดยระบุกำไรที่บริษัทได้รับจากรายรับแต่ละบาทที่ธุรกิจหามาได้

ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนควรระลึกอยู่เสมอไว้ว่าแม้ว่างบกำไรขาดทุนจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัท แต่สิ่งสำคัญคือการพิจารณาควบคู่กับงบการเงินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) และ (Cash Flow Statement) เพื่อให้ได้มุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัท

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ งบกำไรขาดทุนดังกล่าว (และงบการเงินทุกงบการเงิน) เป็นข้อมูลในอดีต ทำให้สะท้อนข้อมูลได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจแต่ไม่ได้แสดงอยู่ในงบกำไรขาดทุน อย่างเช่น สภาพแวดล้อมในการแข่งขันในแต่ละช่วงเวลา และปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด