หน้าแรก » ธุรกิจ » Incoterms คืออะไร? เข้าใจ 11 เงื่อนไข Incoterms 2020

Incoterms คืออะไร? เข้าใจ 11 เงื่อนไข Incoterms 2020

บทความโดย safesiri
INCOTERMS คือ Incoterms 2020 คือ เงื่อนไขการขนส่งสินค้า Incoterm FOB CIF

Incoterms คือ เงื่อนไขในการส่งมอบสินค้าสากล (International Commercial Terms) ที่เป็นเงื่อนไขที่ประกอบไปด้วยขอบเขตความรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายค่าขนส่ง, จุดส่งมอบ/จุดรับสินค้า, และผู้รับผิดชอบความเสี่ยงเมื่อสินค้าเกิดความเสียหาย

โดย International Commercial Terms หรือ INCOTERMS เป็นเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยสภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce หรือ ICC) ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1923

องค์ประกอบที่ต้องทำความเข้าใจในแต่ละเงื่อนไข Incoterms ทั้ง 3 ส่วน ได้แก่เรื่องดังต่อไปนี้:

  • ความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย แสดงฝ่ายที่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
  • ภาระความเสี่ยงของแต่ละเงื่อนไข แสดงผู้รับผิดชอบความเสี่ยงเมื่อสินค้าเกิดความเสียหาย สูญหาย ระหว่างการขนส่ง
  • วงเล็บต่อท้ายในแต่ละ Incoterms คือการระบุสถานที่ส่งมอบตามเงื่อนไข เช่น FOB Bangkok โดย Bangkok ในที่นี้คือ “ท่าเรือต้นทาง”

ตัวอย่างเช่น เงื่อนไข EX Works หรือ EXW คือเงื่อนไขที่ผู้นำเข้ารับผิดชอบสินค้าตั้งแต่ขนสินค้าขึ้นรถ หมายความ ตั้งแต่หลังจากผู้นำเข้าขนสินค้าขึ้นรถแล้ว ผู้นำเข้าต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งเองทุกอย่าง (ค่ารถ ค่าระวางเรือ ค่ายกลงจากรถ ค่ายกขึ้นเรือ) และถ้าหากสินค้าเสียหายผู้นำเข้าก็จะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเอง

Incoterms 2020 คืออะไร?

Incoterms 2020 คือ เงื่อนไขการส่งมอบสินค้าที่ประกาศใช้ในปี 2020 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 9 ของ Incoterms ที่มีการประกาศปรับปรุงทุก 10 ปี โดย Incoterms 2020 เป็นการแก้ไขอัพเกรดจากเงื่อนไข Incoterms 2010

สำหรับเงื่อนไข Incoterms 2020 ทั้ง 11 รูปแบบ ได้แก่:

  1. EXW หรือ EX Works
  2. FCA หรือ Free Carrier
  3. FAS หรือ Free Alongside Ship
  4. FOB หรือ Free On Board
  5. CPT หรือ Carriage Paid To
  6. CIP หรือ Carriage and Insurance Paid
  7. CFR หรือ Cost and Freight
  8. CIF หรือ Cost Insurance and Freight
  9. DPU หรือ Delivered at Place Unloaded
  10. DAP หรือ Delivered at Place
  11. DDP หรือ Delivered Duty Paid

EX Works

EXW หรือ EX Works (ระบุสถานที่ส่งมอบ)

ผู้ส่งออก: ส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ของผู้ส่งออก

ผู้นำเข้า: รับผิดชอบสินค้าตั้งแต่ขนสินค้าขึ้นรถ, ทำศุลกากรทั้งขาออกและขาเข้า

อธิบายง่าย ๆ ให้เห็นภาพคือการเตรียมสินค้าเอาไว้ตามที่ผู้นำเข้าต้องการ รอผู้นำเข้ามารับเป็นอันเสร็จเรียบร้อย อาจเรียกได้ว่าเป็นสินค้าราคาโรงงานที่ไม่รวมค่าขน

Free Carrier

FCA หรือ Free Carrier (ระบุสถานที่ส่งมอบ)

ผู้ส่งออก: ส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ของผู้ส่งออก และขนสินค้าขึ้นพาหนะที่ผู้นำเข้าส่งมารับสินค้า, ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับผิดชอบสินค้าตั้งแต่สินค้าถูกวางบนรถ, ทำศุลกากรขาเข้า

ผู้ส่งออกขนสินค้าขึ้นรถที่มารับสินค้าให้ ส่วนที่เหลือผู้นำเข้าจัดการเอง

Free Alongside Ship

FAS หรือ Free Alongside Ship (ระบุท่าเรือต้นทาง)

ผู้ส่งออก: หมดความรับผิดชอบ เมื่อผู้ส่งออกนำสินค้าไปวางที่ข้างเรือ (ท่าเรือประเทศผู้ส่งออก), ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับผิดชอบตั้งแต่ยกสินค้าที่วางไว้ขึ้นเรือ, ทำศุลกากรขาเข้า

Free On Board

FOB หรือ Free On Board (ระบุท่าเรือต้นทาง)

ผู้ส่งออก: หมดความรับผิดชอบเมื่อเมื่อผู้ส่งออกนำสินค้าขึ้นไปวางบนเรือ (ท่าเรือประเทศผู้ส่งออก), ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับความเสี่ยงตั้งแต่สินค้าถูกวางบนเรือ, ทำศุลกากรขาเข้า

FOB หรือ Free On Board คือหนึ่งใน Incoterms ที่พบได้บ่อย เนื่องจากผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบความเสี่ยงของสินค้าทันทีที่สินค้าถูกยกวางบนเรือ

Carriage Paid To

CPT หรือ Carriage Paid To (ระบุสถานที่ปลายทาง)

ผู้ส่งออก: ส่งมอบสินค้าให้กับ Freight Forwarder ที่ผู้ส่งออกหามา และหมดความรับผิดชอบต่อสินค้าตรงนี้ (ยังอยู่ในประเทศผู้นำเข้า), ผู้ส่งออกจ่ายค่าขนส่งสินค้า (ไม่รวมค่าขนสินค้าลงจากพาหนะ), ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับความเสี่ยงตั้งแต่ตอนที่ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าให้ Freight Forwarder, จ่ายค่าขนสินค้าลงจากพาหนะ ณ สถานที่ปลายทางการขนส่ง, ทำศุลกากรขาเข้า

รูปแบบของ CPT Term จะคล้ายกับการสั่งสินค้าออนไลน์แล้วให้ผู้ขายส่งของมาให้ทางไปรษณีย์ ในกรณีที่ไปรษณีย์ทำแตกระหว่างขนส่งทางผู้ขายเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบสินค้าที่เสียหายนั้น

Carriage and Insurance Paid

CIP หรือ Carriage and Insurance Paid (ระบุสถานที่ปลายทาง)

ผู้ส่งออก: ส่งมอบสินค้าให้กับ Freight Forwarder ที่ผู้ส่งออกหามา และหมดความรับผิดชอบต่อสินค้าตรงนี้ (ยังอยู่ในประเทศผู้นำเข้า), ผู้ส่งออกจ่ายค่าขนส่งสินค้า (ไม่รวมค่าขนสินค้าลงจากพาหนะ), ทำประกัน, ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับความเสี่ยงตั้งแต่ตอนที่ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าให้ Freight Forwarder (แต่มีประกัน), จ่ายค่าขนสินค้าลงจากพาหนะ ณ สถานที่ปลายทางการขนส่ง, ทำศุลกากรขาเข้า

CIP คือเงื่อนไขที่เหมือนกับเงื่อนไขแบบ CPT เพียงแต่มีเรื่องการประกันเพิ่มเข้ามา

Cost and Freight

CFR หรือ Cost and Freight (ระบุท่าเรือปลายทาง)

ผู้ส่งออก: หมดภาระเมื่อสินค้าถูกยกขึ้นไปวางบนเรือ (ท่าเรือประเทศผู้ส่งออก), จ่ายค่าระวางเรือ (ไม่รวมค่าขนสินค้าออกจากเรือ ในตอนที่เรือถึงปลายทาง), ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับความเสี่ยงตั้งแต่สินค้าถูกวางบนเรือ, จ่ายค่ายกสินค้าออกจากเรือ, ค่าขนส่งสินค้าหลังลงมาจากเรือ, ทำศุลกากรขาเข้า

Cost Insurance and Freight

CIF หรือ Cost Insurance and Freight (ระบุท่าเรือปลายทาง)

ผู้ส่งออก: หมดภาระเมื่อสินค้าถูกยกขึ้นไปวางบนเรือ (ท่าเรือประเทศผู้ส่งออก), จ่ายค่าระวางเรือ (ไม่รวมค่าขนสินค้าออกจากเรือ ตอนเรือถึงปลายทาง), จ่ายค่าประกัน, ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: รับความเสี่ยงตั้งแต่สินค้าถูกวางบนเรือ (แต่มีประกัน), จ่ายค่ายกสินค้าออกจากเรือ, ค่าขนส่งสินค้าไปยังที่หมาย, ทำศุลกากรขาเข้า

Incoterm แบบ CIF จะทำงานเหมือน CFR เพียงแต่มีเรื่องของการประกันเพิ่มเข้ามา

CIF หรือ Cost Insurance and Freight คือหนึ่งในรูปแบบ Incoterms แบบที่ได้รับความนิยมที่สุด เพราะราคา CIF เป็นราคาที่รวมค่าประกันสินค้าเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นราคาที่ใช้คำนวณภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้า

Delivered at Place Unloaded

DPU หรือ Delivered at Place Unloaded (ระบุท่า หรือ สถานที่ปลายทาง)

ผู้ส่งออก: ส่งสินค้า ณ สถานที่ปลายทางของผู้นำเข้าในประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งขนสินค้าลงจากพาหนะด้วย, รับผิดชอบจนถึงตอนขนสินค้าลง, ทำศุลกากรขาออก

สถานที่ปลายทาง เช่น ท่าเรือ คลังสินค้า ลานตู้คอนเทนเนอร์ คลังสินค้าของสายการบิน และคลังสินค้าของรถไฟ ไม่ได้จำกัดแค่ที่ Terminal

ผู้นำเข้า: รับความเสี่ยงตั้งแต่รับสินค้ามา, ทำศุลกากรขาเข้า

DAT (Delivered at Terminal) ของ Incoterms 2010 ถูกสลับมาเป็น DPU (Delivered at Place Unloaded) ใน Incoterms 2020 เพื่อเน้นว่าสถานที่ปลายทางสามารถเป็นที่ใดก็ได้และไม่ใช่แค่ที่ Terminal และเพื่อเน้นความแตกต่างเดียวจาก Delivered at Place Unloaded (DPU) ซึ่งภายใต้เงื่อนไข DAP ผู้ขายจะไม่ขนถ่ายสินค้า แต่ภายใต้เงื่อนไข DPU ผู้ขายจะขนถ่ายสินค้า

Delivered at Place

DAP หรือ Delivered at Place (ระบุสถานที่ปลายทาง)

ผู้ส่งออก: ส่งสินค้า ณ สถานที่ปลายทางตามความต้องการผู้ซื้อ โดยไม่ต้องขนสินค้าลงจากพาหนะ, ชำระค่าระวาง, ทำศุลกากรขาออก

ผู้นำเข้า: ขนสินค้าลงจากพาหนะ, รับความเสี่ยงตั้งแต่ตอนขนสินค้าลงจากพาหนะ, ทำศุลกากรขาเข้า

ความแตกต่างเดียวจาก Delivered at Place Unloaded (DPU) ซึ่งภายใต้เงื่อนไข DAP ผู้ขายจะไม่ขนถ่ายสินค้าลง แต่ภายใต้เงื่อนไข DPU ผู้ขายจะเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าลง

Delivered Duty Paid

DDP หรือ Delivered Duty Paid (ระบุสถานที่ปลายทาง)

ผู้ส่งออก: ส่งสินค้า ณ สถานที่ปลายทางที่ผู้นำเข้าต้องการ (ไม่รวมค่าขนลงจากพาหนะ), จ่ายค่าระวาง, ค่าประกัน, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำศุลกากรขาออกและขาเข้า

ผู้นำเข้า: รับสินค้าที่จุดที่ตกลงไว้, ความเสี่ยงเริ่มตั้งแต่รับสินค้า

DDP หรือ Delivered Duty Paid คือ เงื่อนไขที่ผู้ขายสินค้าจะส่งมอบสินค้าบนพาหนะขนส่งที่มาถึงพร้อมจะขนถ่ายสินค้าลง (โดยผู้ส่งออกจะรับความเสี่ยงและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างนี้เช่นกัน) ณ สถานที่ปลายทางที่ระบุเอาไว้

กล่าวคือ DDP คือรูปแบบที่ผู้นำเข้าสินค้า (ผู้ซื้อ) สั่งแล้วรอสินค้ามาส่งโดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่นำสินค้าลงจากรถที่มาส่ง ณ จุดที่ตกลงกันไว้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด