หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » กลไกราคา คืออะไร? สิ่งที่กำหนด “ราคาตลาด” ทำงานอย่างไร?

กลไกราคา คืออะไร? สิ่งที่กำหนด “ราคาตลาด” ทำงานอย่างไร?

บทความโดย safesiri
กลไกราคา คือ หมายถึง ราคาตลาด คือ ภาษาอังกฤษ Market Price

ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีกลไกราคาเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดราคาตลาดของสินค้าและบริการผ่านกลไกอุปสงค์ อุปทาน และดุลยภาพของตลาด ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกับกลไกราคาและราคาตลาดอย่างละเอียดมากขึ้นผ่านอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) และดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium)

กลไกราคา คืออะไร?

กลไกราคา คือ กลไกที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าหรือบริการที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) ของผู้ซื้อ และปริมาณความต้องการขาย (Supply) ของผู้ขาย

เมื่อปริมาณอุปสงค์หรือความต้องการซื้ออยู่ในระดับที่สูงกว่าปริมาณอุปทานหรือความต้องการขาย (ความต้องการซื้อ > ความต้องการขาย) ราคาของสินค้าหรือบริการดังกล่าวจะสูงขึ้น ซึ่งความต้องการซื้อและราคาที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น

และในทางกลับกัน เมื่อปริมาณของอุปสงค์หรือความต้องการซื้อลดลงต่ำกว่าปริมาณอุปทานหรือความต้องการขาย (ความต้องการซื้อ < ความต้องการขาย) จะทำให้ราคาสินค้าและบริการจะลดลง เมื่อความต้องการและราคาลดลงแรงจูงใจในการผลิตของผู้ผลิตก็จะลด

โดยราคาและปริมาณการผลิตสินค้าหรือบริการในตลาดที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free Market) ที่ปราศจากการแทรกแซงราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกราคา (Price Mechanism) ที่ขึ้นอยู่กับกลไกของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ข้างต้น

หากสรุปแบบง่าย ๆ จะพบว่า กลไกราคา หมายถึง กลไกของราคาตลาดของสินค้าหรือบริการหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการซื้อและความต้องการขายที่เกิดขึ้นกับสินค้าหรือบริการดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งกลไกราคานี้จะสามารถพบได้ในทุกตลาดที่ไม่ใช่ตลาดผู้ขาด (Monopoly) และในตลาดของสินค้าหรือบริการบางประเภทที่เป็นข้อยกเว้น

อุปสงค์กับกลไกราคา

ความต้องการซื้อในกลไกราคา คือ สิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกของกฎของอุปสงค์

กฎของอุปสงค์ (Law of Demand) เป็นกฎที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการซื้อสินค้ากับราคา (Price) ของสินค้า ซึ่งกฎของอุปสงค์ได้อธิบายความสัมพันธ์ของความต้องการซื้อสินค้ากับระดับราคาสินค้าเอาไว้ดังนี้

  • เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อสินค้าจะลดลง
  • เมื่อราคาสินค้าลดลง ความต้องการซื้อสินค้าจะเพิ่มขึ้น
กลไกราคา คือ กลไก อุปสงค์ Demand ราคาตลาด ภาษาอังกฤษ
กราฟอุปสงค์ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและระดับความต้องการซื้อสินค้า (Demand)

จากกราฟกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) จะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งระดับราคาสินค้า (Price) เพิ่มขึ้น ระดับปริมาณความต้องการซื้อสินค้า (Quantity) จะลดลง ในทางกลับกัน กราฟอุปสงค์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นอีกว่ายิ่งปริมาณสินค้า (Quantity) มีน้อยหรือหามาขายได้ยาก ระดับราคาสินค้า (Price) ก็จะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น แร่หายาก และของสะสมหายากต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าอยู่ 2 ชนิดที่ไม่เป็นไปตามกฎของอุปสงค์ (Law of Demand) คือ สินค้าประเภท Giffen Goods และ Veblen Goods ที่ยิ่งราคาสูง ไม่ได้ทำให้ระดับความต้องการซื้อลดลงตามกลไกอุปสงค์

อุปทานกับกลไกราคา

ในทำนองเดียวกัน ปริมาณความต้องการขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในกลไกราคา คือ สิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกของกฎของอุปทาน

กฎของอุปทาน (Law of Supply) เป็นกฎที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุปทาน (Supply) หรือความต้องการขายสินค้ากับราคาสินค้า ที่แสดงให้เห็นว่าระดับความต้องการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางเดียวกับระดับราคาสินค้า โดยกฎของอุปทานได้อธิบายความสัมพันธ์ของความต้องการขายสินค้า (Supply) กับระดับราคาสินค้า (Price) เอาไว้ดังนี้

  • เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ความต้องการขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น
  • เมื่อราคาสินค้าลดลง ความต้องการขายสินค้าจะลดลง
อุปทาน คือ Law of Supply กฎของอุปทาน กราฟ Supply
กราฟอุปทาน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและระดับความต้องการขายสินค้า (Supply)

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้น ยิ่งราคาสินค้าเพิ่มขึ้นคนก็จะยิ่งต้องการขายสินค้านั้นมากขึ้น จากกราฟกฎของอุปทาน (Law of Supply) จะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งราคาสินค้า (Price) เพิ่มขึ้น ระดับความต้องการขายสินค้า (Quantity) จะเพิ่มขึ้นตาม แต่ถ้าหากสินค้ามีราคาที่ลดลง (Price) ระดับปริมาณความต้องการขายสินค้า (Quantity) ก็จะลดลงเช่นกัน


ราคาตลาด คือ สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ราคาตลาด คือ ราคาที่ความต้องการซื้อส่วนใหญ่ในตลาดยอมรับได้ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากกลไกราคาที่เกิดขึ้นตามปริมาณอุปสงค์ (Demand) และปริมาณอุปทาน (Supply) ต่อสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่งในตลาด

จากความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน จะเห็นว่าทั้งสองเป็นด้านตรงข้ามที่มีผลต่อกัน ถึงแม้จะบอกว่าเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการขายหรืออุปทานเพิ่มขึ้น แต่เมื่อปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้น (Supply เพิ่ม) ก็จะทำให้ความต้องการสินค้าลดลงจนส่งผลให้ราคาสินค้าลดลง (เพราะสินค้าล้นตลาด) จนถึงจุดสมดุลที่อุปสงค์เท่ากับอุปทาน

และเมื่อในตลาดมีปริมาณความต้องการซื้อเท่ากับปริมาณความต้องการขาย ตลาดก็จะอยู่ในภาวะสมดุล โดยภาวะสมดุลนี้ในทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า จุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่ความต้องการซื้อเท่ากับความต้องการขายสินค้าพอดี ซึ่งก็คือจุดที่เส้น Demand ตัดกับเส้น Supply พอดีในกราฟด้านล่าง

อุปสงค์ อุปทาน กราฟ Demand Supply จุดดุลยภาพ equilibrium
กราฟแสดงจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่จุดตัดของเส้นอุปสงค์และอุปทาน

ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไปจุดดุลยภาพดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของตลาด อย่างเช่น ราคา ต้นทุนการผลิต การโฆษณา รายได้ รสนิยม กระแส ราคาของสินค้าทดแทน สินค้าประกอบกัน จำนวนผู้ซื้อ ฤดูกาล การคาดการณ์ราคาสินค้า และจำนวนผู้ผลิต จึงเป็นเหตุให้ราคาตลาดที่เหมาะสมจึงแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาตามปัจจัยที่ส่งผลต่อกลไกราคา

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด