หน้าแรก » ธุรกิจ » 7 Waste คืออะไร? ความสูญเสีย 7 ประการ มีอะไรบ้าง

7 Waste คืออะไร? ความสูญเสีย 7 ประการ มีอะไรบ้าง

บทความโดย safesiri
7 Waste คือ ความสูญเสีย 7 ประการ คือ Wastes ความสูญเปล่า 7 ประการ

7 Waste คือ ความสูญเสีย 7 ประการ หรือ ความสูญเปล่า 7 ประการ ซึ่งเป็นความสูญเปล่าที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการผลิต เป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อบริษัท ไม่ก่อให้เกิดกำไร แต่มีต้นทุนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ความสูญเปล่า 7 ประการหรือ 7 Waste เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย Shigeo Shingo และ Taiichi Ohno จากบริษัท Toyota บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ซึ่งเป็นเป็นผู้คิดค้นแนวคิดอย่างเช่น Just In Time (JIT) หรือการผลิตแบบทันเวลาพอดีที่มีรากฐานมาจากความสูญเสียทั้ง 7 Wastes

7 Wastes หรือความสูญเปล่า 7 ประการ ได้แก่ ความสูญเสียจากวัสดุคงคลัง (Inventory), ความสูญเสียจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction), ความสูญเสียจากการเคลื่อนไหว (Motion), ความสูญเสียจากการรอ (Delay), ความสูญเสียจากการผลิตของเสีย (Defect), ความสูญเสียจากการขนส่ง (Transportation), และ ความสูญเสียจากกระบวนการ (Processing)

ซึ่งการตัดความสูญเปล่าตามแนวคิด 7 Wastes เหล่านี้ออกไปจากกระบวนการดำเนินงานและการผลิต จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลง จากทั้งกระบวนการที่น้อยลงและความผิดพลาดที่น้อยลง

ความสูญเปล่าจากการเก็บวัสดุคงคลัง (Inventory)

ความสูญเปล่าจากการเก็บวัสดุคงคลังและสินค้าคงคลัง (Waste from Inventory) คือ 7 Waste ที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นเกือบทุกบริษัท เนื่องจากเป็นความสูญเปล่าที่มาจากการซื้อวัสดุและวัตถุดิบจำนวนมากมาเก็บไว้เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อต้องการใช้จะมีของที่ต้องการให้ใช้

แต่ในความเป็นจริงวัสดุคงคลัง (Inventory) ที่มากเกินจำเป็นมีปัญหาที่ตามมาคือการที่ต้องเก็บวัสดุคงคลังเหล่านั้น ทำให้มีต้นทุนที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น โดยความสูญเสียจากการเก็บวัสดุคงคลัง (Waste from Inventory) ได้แก่

ต้นทุนในการเก็บรักษา ได้แก่ พื้นที่จัดเก็บ ค่าเช่าคลัง ค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายเข้าและออก ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการคลัง

ต้นทุนจม (Sunk Cost) จากการที่ซื้อวัสดุคงคลังหรือวัตถุดิบมาเก็บไว้เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ (ซื้อมาเก็บยังไม่ได้ใช้ รวมถึงยังไม่ได้นำไปผลิตและขาย)

วัสดุเสื่อมคุณภาพ จากการที่ไม่มีการควบคุมว่าอันไหนเข้ามาก่อนและจะหมดสภาพการใช้งานเมื่อไหร่ ทำให้อาจจะต้องทิ้งวัสดุหรือวัตถุดิบนั้นอย่างสูญเปล่า

ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดในการลด ความสูญเปล่าจากการเก็บวัสดุคงคลัง คือ การสั่งซื้อในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการพอดีหรือในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป

รวมทั้งควรมีการควบคุมวัสดุคงคลังและวัตถุดิบคงคลังที่ดีด้วยการจัดลำดับก่อนหลังของวัสดุคงคลังและวัตถุดิบที่ซื้อเข้ามา เพื่อที่จะสามารถเบิกออกไปใช้ก่อนที่จะหมดสภาพการใช้งาน

ความสูญเปล่าจากการขนส่ง (Transportation)

ความสูญเปล่าจากการขนส่งหรือ Waste from Transportation คือ ความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในกระบวนการขนส่ง ซึ่งมีต้นทุนเป็น เวลา แรงงาน ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง บางครั้งยังรวมไปถึงสินค้าที่เสียหายจากการขนส่งที่ผิดพลาด

ปัญหาที่ทำให้เกิดความสูญเปล่าจากการขนส่ง (Waste from Transportation) ได้แก่:

การขนส่งที่ซ้ำซ้อน เช่น การไปส่งสินค้าที่เดียวกัน ครั้งละไม่กี่ชิ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

อุบัติเหตุ จากการขนส่งผิดวิธี ขาดความระมัดระวังของพนักงาน

ใช้วิธีการขนถ่ายสินค้าที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้รถ Folk Lift ที่รับน้ำหนักได้น้อยกว่าสินค้าที่ขนถ่าย

ความสูญเสียจากการขนส่ง (Waste of Transportation) นิยมแก้ไขด้วยการสร้างมาตรฐานบางอย่างขึ้นมาเพื่อควบคุมในส่วนที่บริษัทสามารถควบคุมได้ เพื่อลดความผิดพลาดที่กล่าวถึงด้านบน

นอกจากนี้ Milk Run คืออีกวิธีที่ได้รับความนิยมในการลดความสูญเปล่าของการขนส่ง โดยเฉพาะกับความสูญเปล่าที่เกิดจากต้นทุนขากลับจากการส่งสินค้าสินค้าให้กับลูกค้า

ความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction)

ความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไป หรือ Waste from Overproduction คือ 7 Waste อีกตัวที่มักจะเกิดขึ้นกับหลายบริษัท เป็นความสูญเปล่าที่เป็นผลมาจากการผลิตแบบ Mass Production ที่เป็นการผลิตสินค้าจำนวนมาก เพื่อหวังประโยชน์จาก Economies of Scale ที่จะทำให้ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ลดลง

ปัญหาที่ตามมาจากการผลิตมากเกินไป (Waste from Overproduction) ได้แก่:

เสียต้นทุนในการผลิตที่ไม่จำเป็น (ยังไม่จำเป็นต้องผลิต) ไม่ว่าจะเป็น แรงงาน เวลา และต้นทุนอื่นๆ

มีต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า เพราะสินค้าที่ผลิตออกมาเกินความต้องการ ต้องเก็บเอาไว้รอจนกว่าจะมี Order เข้ามา ซึ่งต้นทุนในการเก็บรักษาก็คือ 7 Waste ข้อแรกที่ได้อธิบายไปแล้วนั่นเอง

ต้นทุนจม (Sunk Cost) เพราะจะได้ทุนคืนมาก็ต่อเมื่อขายสินค้าเหล่านั้นได้

ต้นทุนจากการที่สินค้าเสื่อมสภาพ บางครั้งสินค้าอาจเสื่อมสภาพก่อนที่จะได้ขาย

สำหรับบริษัทที่ประสบกับปัญหาความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction) Just In Time คือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการผลิตที่มากเกินไป ด้วยการเปลี่ยนไปผลิตตามที่ต้องการเท่านั้น

ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหว (Motion)

ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหว (Waste from Motion) คือ ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง อย่างการยกผิดท่าจนทำให้ร่างกายบาดเจ็บ

ซึ่งความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหว (Motion) จะนำไปสู่ความเสียหายต่อกระบวนการดำเนินงานหรือกระบวนการผลิต เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักลงไป โดยความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหว (Waste from motion) ได้แก่:

อุบัติเหตุ อย่างเช่นกรณีที่เคลื่อนไหวไม่ถูกต้อง

เวลา ที่เสียจากการที่ปัญหาทำให้กระบวนการในการดำเนินงานหรือการผลิตหยุดชะงัก

สูญเสียแรงงาน ซึ่งเป็นผลพวงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ความสูญเปล่าจากการรอคอย (Delay)

ความสูญเปล่าจากการรอคอย (Waste from Delay) คือ ความสูญเปล่า 7 ประการ ในส่วนที่เกิดจากการที่การผลิตหรือการดำเนินงานต้องหยุดชะงักด้วยเหตุผลบางอย่าง

ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรเสีย วัตถุดิบหมด วัตถุดิบมาส่งไม่ทัน รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุอย่างที่ได้อธิบายไว้ในส่วนของความสูญเสียจากการเคลื่อนไหว (Waste from Motion) ด้านบน ซึ่งจะส่งผลให้ไลน์การผลิตต้องหยุดรอ โดยต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการรอคอย (Delay) ได้แก่:

ต้นทุนค่าเสียโอกาส จากแทนที่จะได้ผลิตกลับต้องหยุดการผลิตจากปัญหา

ต้นทุนแรงงานที่สูญเปล่า (จ่ายเงินจ้างพนักงานมานั่งรอ)

ความเสียหายจากการส่งมอบสินค้าไม่ทันเวลา เพราะแผนการผลิตถูกเลื่อนออกไป

ความสูญเปล่าจากการผลิตของเสีย (Defect)

ความสูญเปล่าจากการผลิตของเสีย (Waste from Defect) คือ 1 ในความสูญเสีย 7 ประการหรือ 7 Waste ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการผลิต

สำหรับสาเหตุที่นำไปสู่การผลิตของเสีย (Defect) ได้แก่:

วัตถุดิบที่ได้มาเกิดความเสียหาย เช่น ความเสียหายที่เกิดระหว่างการขนส่ง และความเสียหายระหว่างการขนถ่าย

ความไม่เข้าใจของพนักงาน ในวิธีการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักร

การประกอบที่เกิดความผิดพลาด ประกอบผิดวิธีส่งผลให้สินค้าเสียหาย

โดยของเสียที่เกิดขึ้นจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการนำของเสียดังกล่าวไปแก้ไขใหม่ หรืออย่างแย่ที่สุดต้องนำของเสียดังกล่าวไปกำจัดทิ้ง ทำให้ต้องผลิตชิ้นใหม่มาทดแทนชิ้นที่ทำลายทิ้งไป

แนวทางในการลดความผิดพลาดของกระบวนการผลิตซึ่งนำไปสู่การผลิตของเสียที่ได้รับความนิยมคือหลัก 5ส หรือ 5S ที่เป็นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานให้สะดวกยิ่งขึ้นเพื่อลดความผิดพลาด

ความสูญเปล่าจากกระบวนการผลิต (Processing)

ความสูญเปล่าจากกระบวนการผลิต (Waste from Processing) คือ อีกหนึ่ง 7 Waste ที่พบได้ทั้งในบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการในการดำเนินงานที่ไม่จำเป็น

ความสูญเสียจากกระบวนการผลิตหรือ Waste from Processing เป็นความสูญเปล่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่มากเกินความจำเป็น ในขณะที่กระบวนการเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แต่ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงานหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเดินเครื่องจักร

ตัวอย่าง ความสูญเปล่าจากกระบวนการผลิต (Waste from Processing) ได้แก่:

กระบวนการซ้ำซ้อนบางอย่างที่ไม่ต้องมีก็ได้ เช่น เอกสารข้อมูลซ้ำๆ หรือเอกสารที่ไม่ได้ถูกนำข้อมูลไปใช้จริงแต่ต้องทำไว้เป็นพิธี

การตรวจเช็คที่มากเกินความจำเป็น ตรวจสินค้าซ้ำแล้วซ้ำอีกแทนที่จะตรวจอย่างละเอียดแบบน้อยครั้ง

แนวทางในการแก้ความสูญเปล่าส่วนนี้สามารถทำได้ด้วยการไล่ย้อนไปดูว่ากระบวนการใดบ้างไม่มีก็ได้ หรือกระบวนการใดมีความซ้ำซ้อน และกระบวนการดังกล่าวซ้ำซ้อนกับส่วนใด


วิธีกำจัดความสูญเปล่า 7 ประการหรือ 7 Waste

แนวคิดที่เป็นที่นิยมในการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดความสูญเปล่า 7 Waste คือแนวคิดเกี่ยวกับการปรับปรุงหลายแนวคิดที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินบ่อย ๆ อย่างเช่น Kaizen, ECRS และการผลิตแบบ Lean

อย่างไรก็ตาม วิธีกำจัดความสูญเสีย 7 ประการก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้กรอบแนวคิดอะไรเข้ามาจัดการ อาจจะเป็นเพียงการระดมความคิด (Brainstorm) ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือว่าจะตัดอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปก็ได้เช่นกัน

เพราะจุดประสงค์ในการลดความสูญเปล่า 7 ประการ คือ การกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นอะไรก็ตามออกไปจากระบบการดำเนินงานเท่าที่จะกำจัดออกไปได้ (โดยที่ไม่ส่งผลด้านลบต่อการดำเนินงาน)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด