หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » QE คืออะไร? มาตรการ Quantitative Easing มีกลไกอย่างไร

QE คืออะไร? มาตรการ Quantitative Easing มีกลไกอย่างไร

บทความโดย safesiri
QE คือ Quantitative Easing คือ นโยบาย มาตรการ QE Fed

QE คือ Quantitative Easing หรือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เป็นนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) ที่ธนาคารกลางจะเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน (พิมพ์เงิน) ขึ้นมาตามกรอบเป้าหมาย QE แล้วอัดฉีดเงินจำนวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางที่ใช้มาตรการ Quantitative Easing หรือ QE จะอัดฉีดสภาพคล่องดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินจากตลาด (Free Market) โดยเฉพาะตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว หรือตราสารหนี้ของธนาคารพาณิชย์

เป้าหมายของมาตรการ QE คือการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำ (กระตุ้นให้เงินเฟ้อกลับมา) และลดต้นทุนการกู้ยืมของผู้ที่ต้องการเงินทุน ด้วยการทำให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนที่ต่ำลงและเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและลดภาระของภาคเอกชนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา

ในขณะที่ Quantitative Easing (QE) ยังสามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของการกู้ยืมเงินลดลง จากการที่การเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาบ (Bond Yield) ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังตราสารหนี้อื่น ๆ ได้โดยที่ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate)

มาตรการ Quantitative Easing (QE) เป็นหนึ่งในมาตรการทางการเงินที่หลายธนาคารกลางใช้มาตั้งแต่ปี 2008 และถูกใช้แบบไร้ขีดจำกัดในช่วงวิกฤติปี 2020 ที่ผ่านมา

การที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ส่งผลให้บางครั้ง QE ในข่าวจะเรียกว่า “การเข้าซื้อสินทรัพย์ (ของธนาคารกลาง)” หรือ “Asset Purchase” แทนที่จะเรียกว่า QE หรือ Quantitative Easing

ทั้งนี้ แม้ QE จะถูกเรียกว่าเป็นการพิมพ์เงิน แต่ในความเป็นจริงการทำ QE ไม่ได้เป็นการพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาจริง ๆ แต่เป็นการเพิ่มเงินขึ้นมาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ธนาคารกลางคีย์ตัวเลขเข้าระบบ)

กลไกของ Quantitative Easing

กลไกของมาตรการ QE หรือ Quantitative Easing เริ่มต้นจากการที่ธนาคารกลาง (Central Bank) เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบตามวงเงิน QE ที่ต้องการ (ที่หลายคนมักเข้าใจว่า QE คือการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมา) จากนั้นธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินจำนวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งตามปกติจะเป็นการเข้าซื้อตราสารหนี้

เมื่อธนาคารกลางเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในการทำ QE ธนาคารกลางที่เป็นผู้ซื้อตราสารหนี้ก็จะต้องเข้าไป Bid ราคาตราสารหนี้ที่เข้าซื้อเหมือนกับนักลงทุนทั่วไปคนหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางเข้าซื้อราคาสูงขึ้นตามกลไกการซื้อขาย เมื่อราคาของตราสารหนี้ดังกล่าวเพิ่มขึ้น Yield จากการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็จะลดลงตามกลไกของ Bond Yield หรือผลตอบแทนตราสารหนี้

ตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลพันธบัตรราคา $1,000 ที่ให้ผลตอบแทน $20 ต่อปี หรือ 2% ต่อปี การเข้าของธนาคารกลางอาจ Bid ราคาของพันธบัตรไปที่ $1,100 เมื่อราคาเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลให้ Yield ลดลงเหลือ 1.8% (มาจาก 20 / 1,100 x 100 = 1.8%)

การที่ผลตอบแทนของพันธบัตรปัจจุบันลดลง ส่งผลให้ในอนาคตการที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรแบบเดียวกันก็สามารถให้ผลตอบแทนเพียง $18 ต่อปีก็เพียงพอที่จะขายออก

จะเห็นว่าอีกประโยชน์ของ QE คือลดต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่รัฐบาลต้องใช้เงินมากกว่าช่วงปกติ ในการออกมาตรการช่วยเหลือและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ในขณะที่เก็บภาษีเก็บลดลง)

เมื่อพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลที่เป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำมากเสมือนไม่มีความเสี่ยง (Risk Free) ให้ผลตอบแทน ลดลง จะกระตุ้นให้นักลงทุนย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม (พฤติกรรมนี้เรียกว่า Search for Yield) ตามปกตินักลงทุนจะย้ายเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและหุ้นเพื่อชดเชยผลตอบแทนที่หายไป

เมื่อนักลงทุนหันมาลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้มากขึ้น ราคาของหุ้นกู้สูงขึ้นตามกลไกของการซื้อขาย และเมื่อราคาสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ Yield ของหุ้นกู้ลดลง (ด้วยกลไกเดียวกับตัวอย่างด้านบน) ส่งผลให้การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในอนาคตสามารถทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เพราะดอกเบี้ยของหุ้นกู้ออกใหม่ในอนาคตลดลง

กลไกดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้มาตรการ Quantitative Easing ทำให้ดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของภาคเอกชนลดลง โดยที่ธนาคารกลางไม่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate)

นอกจากนี้ QE ยังอาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากเมื่อต้นทุนในตลาดตราสารหนี้ลดลง ธนาคารพาณิชย์ก็จะมีแนวโน้มในการปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลงเพื่อรักษาลูกค้าที่สามารถระดมทุนได้ทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดตราสารหนี้เอาไว้ เพราะถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าก็จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เลือกระดมทุนผ่านหุ้นกู้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าแทน

เป้าหมายของมาตรการ QE

เป้าหมายของการใช้ Quantitative Easing (QE) ของธนาคารกลาง โดยสรุปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเด็น ได้แก่

  1. การเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทุกคนไม่อยากใช้จ่าย ธุรกิจไม่อยากลงทุน รวมถึงธนาคารไม่อยากปล่อยกู้
  2. ช่วยให้รัฐบาลกู้เงินเพื่อนำไปใช้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ต้นทุนในการกู้เงินลดลง
  3. ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมของธุรกิจลดลงจากการเข้าถึงเงินที่ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลงของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้อธิบายเกี่ยวกับกลไกและเป้าหมายของ QE มาทั้งหมด หลายคนอาจเกิดคำถามว่าถ้าหากต้องการให้ต้นทุนในการกู้ยืมลดลง ทำไมธนาคารกลางเลือกที่จะทำ QE แทนที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย?

คำตอบคือประเทศที่ทำ QE เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ทำ QE เป็นประเทศแรก สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ หรือสวีเดน ทุกประเทศอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำมากในระดับเข้าใกล้ศูนย์หรือใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ (Negative Interest Rate) อยู่แล้ว ทำให้การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกต่อไปหรือส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ความเสี่ยงของ QE

แม้ว่าเป้าหมายของ QE คือการกระตุ้นเงินเฟ้อแต่ความเสี่ยงของ QE เองก็คือเงินเฟ้อ (Inflation) เช่นกัน แต่เป็นเงินเฟ้อในระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการทำ QE ในช่วงที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้วที่จะทำมีปริมาณเงินในระบบมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่งธนาคารกลางก็จะดึงเงินกลับเพื่อทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมาย ทำให้ความเสี่ยงที่แท้จริงของ QE อยู่ที่นักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นจาก QE เพราะเมื่อถึงจุดที่ธนาคารกลางต้องดึงเงินที่เคยใส่เข้ามากลับไป เงินจาก QE ที่เคยเข้าไปหนุนราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็จะหายไป

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ถ้าหากกลไกที่อธิบายในข้างต้นของบทความนี้ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อธนาคารเพิ่มเงินเข้ามาในระบบผ่านการทำ QE ถ้าหากธนาคารกลางดึงเงินกลับสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือด้านตรงข้ามนั่นเอง

นอกจากนี้ อีกปัญหาของ QE คือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง ๆ เพราะในทางปฏิบัติแล้วธนาคารกลางก็ไม่สามารถบังคับให้ธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจใช้เงินทุนดังกล่าวได้ โดยเฉพาะในกรณีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นที่แม้ว่าจะทำ QE ก็ยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืดอยู่ดี

มาตรการ QE ในอดีต

QE ถูกใช้ครั้งแรกโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อปี ค.ศ. 2001 ในช่วงทศวรรษของญี่ปุ่นหรือ Lost Decade แต่มาตรการ Quantitative Easing หรือ QE เป็นที่รู้จักจากการการทำ QE โดย Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังจากวิกฤติ Subprime เมื่อปี 2008 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติทางการเงิน

ส่วนประเทศอื่นนอกจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นที่เคยใช้มาตราการ QE ได้แก่ อังกฤษ ประเทศในกลุ่มยูโรโซน (Euro-Zone) และประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สาเหตุที่ทำให้มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ธนาคารกลางสามารถจะนำมาตรการ QE หรือ Quantitative Easing มาใช้ได้ เพราะการที่เพิ่มเงินเข้าสู่ระบบขึ้นมาเฉย ๆ ต้องอาศัยความน่าเชื่อถืออย่างมาก เพราะสิ่งที่เป็นหลักค้ำประกันเงินคือความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศที่พิมพ์เงินนั้นที่ใช้เป็นสิ่งรับรองว่าเงินสกุลดังกล่าวจะยังมีค่าอยู่แม้ว่าจะถูกพิมพ์เพิ่มขึ้นมา

หรือเปรียบเทียบให้ง่ายกว่านั้นถ้าประเทศเวเนซุเอลาพิมพ์เงินขึ้นมาเฉย ๆ แล้วอัดเข้าไปในตลาดการเงิน คำถามคือจะมีใครอยากถือเงินของประเทศเวเนซุเอลาในเมื่อประเทศเวเนซุเอลาอาจจะล้มละลายเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด