หน้าแรก » ธุรกิจ » Strategic Planning คืออะไร? การวางแผนกลยุทธ์ทำอย่างไร

Strategic Planning คืออะไร? การวางแผนกลยุทธ์ทำอย่างไร

บทความโดย safesiri
Strategic Planning คือ การวางแผนกลยุทธ์ คือ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดการเชิงกลยุทธ์

Strategic Planning คือ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ เป็นกระบวนการวางแผนกลยุทธ์เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กรในระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่จะช่วยระบุกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันขององค์กรในการไปสู่เป้าหมายตามที่ต้องการ

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Planning เป็นกระบวนการสำคัญกับองค์กรทุกประเภททั้งองค์กรที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร เนื่องจาก Strategic Planning จะสร้างกรอบที่ช่วยกำหนดทิศทางและเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจนให้กับองค์กรพร้อมกับกลยุทธ์และแผนงานที่จะนำองค์กรไปสู่เป้าหมายในสภาพแวดล้อมในการแข่งขันดังกล่าว

โดยกระบวนการ Strategic Planning จะมีลำดับ ดังนี้

  1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอก
  2. กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และวัตถุประสงค์ (Objective) บนพื้นฐานสภาพแวดล้อมการแข่งขัน
  3. ลงมือปฏิบัติจริงและเฝ้าติดตามผลการดำเนินงาน (Implementation and Monitoring)

กล่าวคือ Strategic Planning คือ กระบวนการวางแผนองค์กรอย่างเป็นลำดับขั้นตอนในรูปแบบบนลงล่าง (Top Down) โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เพื่อกำหนดเป้าหมายระยะยาวตามด้วยเป้าหมายในระยะที่สั้นลงมาตามลำดับไปจนถึงระดับปฏิบัติการ และสิ้นสุดที่การติดตามวัดผลและปรับปรุงกลยุทธ์

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการแข่งขัน

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการแข่งขัน คือ ขั้นตอนแรกของทุก Strategic Planning ซึ่งมีเป้าหมายในการระบุปัจจัยภายใน (Internal Factors) และปัจจัยภายนอก (External Factors) ที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการแข่งขันและการดำเนินงานขององค์กรทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพื่อนำไปใช้สร้างเป้าหมายและวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันปัจจุบัน

ปัจจัยภายใน (Internal Factors) คือ ปัจจัยภายในที่องค์กรสามารถควบคุมปรับปรุง แก้ไข หรือมีความเป็นไปได้ที่องค์กรจะทำให้เกิดขึ้นเองได้ โดยปัจจัยภายในจะเกี่ยวข้องกับทั้งปัจจัยในเชิงบวกที่สามารถนำมาใช้เป็นจุดแข็งที่สร้างข้อได้เปรียบ และปัจจัยเชิงลบที่เป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่ความเสียเปรียบ

ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรที่องค์กรมี ความรู้ความเชี่ยวชาญที่มี ทรัพย์สินทางปัญญา ภาพลักษณ์ ส่วนแบ่งทางการตลาด คู่ค้า และข้อได้เปรียบเสียเปรียบอื่น ๆ ที่สามารถควบคุมได้

เครื่องมือที่เป็นกรอบสำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ได้แก่ SWOT Analysis ในส่วนของ Strengths และ Weaknesses, การวิเคราะห์แต่ละส่วนของ Value Chain, และ 7 McKinsey Framework เป็นต้น

ปัจจัยภายนอก (External Factors) คือ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการแข่งขันขององค์กรทั้งด้านบวกในลักษณะของโอกาส และด้านลบในลักษณะของอุปสรรคที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กร โดยปัจจัยภายนอกองค์กรจะทำได้เพียงแสวงหาประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น และหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก

ตัวอย่างเช่น มาตรการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลต่อการส่งออก พฤติกรรมผู้บริโภค กระแสสังคม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลกับธุรกิจ

เครื่องมือที่เป็นกรอบสำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ได้แก่ SWOT Analysis ในส่วนของ Opportunities และ Threats, PEST Analysis หรือ PESTEL Analysis, และ Five Forces Analysis เป็นต้น

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์

เมื่อได้ข้อมูลของสภาพแวดล้อมในการแข่งขันจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ลำดับต่อมาของ Strategic Planning คือ การตั้งเป้าหมายของกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการแข่งขัน โดยเป้าหมายขององค์กรจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน เรียกว่า วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และวัตถุประสงค์ (Objective) ที่แตกต่างกันตามกรอบระยะเวลาของเป้าหมาย

วิสัยทัศน์ (Vision) คือ เป้าหมายในระยะยาวขององค์กร เป็นทิศทางในระยะยาวที่องค์กรอยากเป็นหรือต้องการมุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างแน่นอนเสมอไป แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่มีข้อมูลหรือความเป็นไปได้รองรับ

ตัวอย่างเช่น “เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมยานยนต์สมรรถนะสูง”

พันธกิจ (Mission) คือ เป้าหมายระยะกลางที่องค์กรต้องทำเพื่อให้วิสัยทัศน์ที่ตั้งเอาไว้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นแล้วพันธกิจ (Mission) จึงเป็นเป้าหมายที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของวิสัยทัศน์ (Vision)

ดังนั้น เมื่อวิสัยทัศน์ (Vision) ระบุเอาไว้ว่า “เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมยานยนต์สมรรถนะสูง” พันธกิจ (Mission) จึงเกี่ยวกับอะไรก็ตามที่ทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น

  • พัฒนายานยนต์สมรรถนะสูงที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย
  • นำเสนอประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือชั้นและน่าประทับใจ
  • สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบรถยนต์สมรรถนะสูง

วัตถุประสงค์ (Objective) คือ เป้าหมายระยะสั้นถึงระดับกลางในระดับปฏิบัติการเพื่อให้พันธกิจ (Mission) สามารถสำเร็จได้ กล่าวคือเป็นรายการที่ต้องทำเพื่อไปสู่เป้าหมายของพันธกิจ

จากตัวอย่างเดิม หากพันธกิจ (Mission) ระบุเอาไว้ว่า “พัฒนายานยนต์สมรรถนะสูงที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย” ดังนั้นแล้ววัตถุประสงค์ (Objective) ของพันธกิจดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับ

  • ลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับยานยนต์สมรรถนะสูง
  • ร่วมมือกับพันธมิตรจากหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ
  • สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี
  • การลงแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ต เพื่อวิจัย พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยีระดับสูงในสนามแข่ง ก่อนนำมาขายจริง ตลอดจนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ผู้นำด้านยานยนต์สมรรถนะสูง

ทั้งนี้ การดำเนินวัตถุประสงค์เหล่านี้จะต้องมีการระบุแผนงานเพื่อให้วัตถุประสงค์เกิดความสำเร็จจากระดับปฏิบัติการ อย่างเช่น เมื่อระบุวัตถุประสงค์หนึ่งว่า “สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี” เมื่อต้องการให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นต้องมีแนวทางการดำเนินงานอย่างไรบ้างจึงจะได้มาซึ่ง “วัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี”

ซึ่งในแต่ละแผนงานจะเกี่ยวข้องกับงานระดับปฏิบัติการ ได้แก่ ขั้นตอน วิธิธีการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน กรอบระยะเวลา งบประมาณ พร้อมกับการกำหนดเครื่องมือในการวัดผลแต่ละแผนงานว่าท้ายที่สุดแต่ละแผนงานสำเร็จหรือไม่อย่างไรด้วยวิธีวัดผลอย่าง KPIs หรือ OKRs

ลงมือปฏิบัติและวัดผล

ในขั้นสุดท้ายของ Strategic Planning คือการลงมือปฏิบัติจริงตามกลยุทธ์ที่วางแผนเอาไว้ตลอดการวางแผนกลยุทธ์และวัดผลการดำเนินงานด้วยเครื่องมือชี้วัดที่ได้ตั้งเอาไว้ในขั้นตอนก่อนหน้า

นอกจากนี้ ในขั้นตอนของการปฎิบัติจริงทุกขั้นตอนยังรวมไปถึงการปรับปรุงกลยุทธ์ (หรือยกเลิกกลยุทธ์) ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่สามารถปฏิบัติได้จริงอย่างที่คิด

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด