หน้าแรก » ธุรกิจ » ปัจจัยภายนอก คืออะไร? การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกทำอย่างไรได้บ้าง

ปัจจัยภายนอก คืออะไร? การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกทำอย่างไรได้บ้าง

บทความโดย safesiri
ปัจจัยภายนอก คือ External Factors คือ การ วิเคราะห์ ปัจจัยภายนอก ตัวอย่าง

ปัจจัยภายนอก คือ ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่มีอยู่ภายนอกองค์กรหรือบุคคล ในขณะที่ปัจจัยภายนอก (External Factors) สามารถส่งผลกระทบต่อผู้วิเคราะห์ได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงาน การตัดสินใจ และผลลัพธ์ของการดำเนินงาน

โดยทั่วไป ปัจจัยภายนอก (External Factors) เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ตลาด กฎระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย การเมือง นโยบายระดับประเทศ ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น และเหตุการณ์ทางธรรมชาติ

ซึ่งปัจจัยภายนอกเหล่านั้นอาจเป็นได้ทั้งโอกาส (Opportunities) ที่องค์กรสามารถหาประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น หรืออุปสรรค (Threats) ที่เป็นผลเสียหรือความเสี่ยงที่องค์กรสามารถทำเพียงป้องกันและหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเหล่านั้น

ปัจจัยภายนอกจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) เนื่องจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก (External Factors Analysis) จะให้ข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลจำเป็นที่องค์กรไม่สามารถควบคุมได้ ที่อาจเป็นข้อได้เปรียบหรือข้อจำกัดของธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage)

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก มีสิ่งสำคัญคือ “การติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด” เนื่องจาก ปัจจัยภายนอกเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในระยะเวลาหนึ่งด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งอาจทำให้ปัจจัยที่เคยเป็นโอกาสอาจไม่ใช่โอกาสหรือแม้กระทั่งกลายเป็นอุปสรรค หรือปัจจัยภายนอกที่เคยเป็นข้อจำกัดก็อาจจะไม่มีอีกต่อไปและทำให้ธุรกิจสามารถทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้มาก่อน

สำหรับเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ได้รับความนิยม ได้แก่ PESTEL Analysis การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก 6 ด้านที่ส่งผลต่อธุรกิจ, Five Force Model การวิเคราะห์ปัจจัยกดดันทั้ง 5 ในอุตสาหกรรม, Diamond Model ในการวิเคราะห์หาความได้เปรียบในการลงทุนข้ามชาติ, และ EFAS ตารางวิเคราะห์ความสำคัญของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับองค์กร

ปัจจัยภายนอก มีอะไรบ้าง?

โดยพื้นฐาน ปัจจัยภายนอก (External Factors) คืออะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบกับองค์กร (หรือบุคคล) ในขณะที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยสามารถแบ่งปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับองค์กรออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  • ปัจจัยภายนอกที่เป็นโอกาส (Threats) ที่องค์กรสามารถหาประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกได้
  • ปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรค (Opportunities) ที่องค์กรได้รับผลเสีย ทำได้เพียงป้องกันและหลีกเลี่ยงจากปัญหา เพื่อรออุปสรรคดังกล่าวหายไป

โดยทั่วไป ปัจจัยภายนอกของธุรกิจ สามารถจัดหมวดหมู่ของปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจจำเป็นต้องเกี่ยวข้องได้เป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ สังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture), เศรษฐกิจ (Economy), กฎหมาย (Law), กฎหมายและข้อบังคับ (Legal & Regulatory), สภาพแวดล้อม (Environmental), เทคโนโลยี (Technology), ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders), และการแข่งขัน (Competition)

สังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture)

สังคมและวัฒนธรรม (Social) เป็นเรื่องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละสังคม อย่างเช่น การที่บางสังคมอยู่เป็นกลุ่มในขณะที่บางสังคมมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ซึ่งสังคมมีวัฒนธรรม (Culture) เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม แนวคิด ค่านิยม ของคนในแต่ละท้องถิ่น

ทั้งหมดทำให้ผู้คนในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้มักส่งผลโดยตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยภายนอกของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคมและวัฒนธรรมจะขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ แต่ก็มักจะเกี่ยวข้องกับ วัฒนธรรมและประเพณี, ความเชื่อและข้อห้ามทางศาสนา, พฤติกรรมการซื้อ, พฤติกรรมความเป็นอยู่และการเข้าสังคม, รูปแบบวิถีชีวิต, และกระแสในสังคม

เศรษฐกิจ (Economy)

เศรษฐกิจ คือ สิ่งที่เกิดจากผลรวมของการแลกเปลี่ยน (Transaction) ทั้งหมดในระบบ อย่างเช่น ภายในประเทศ ดังนั้น ความสำคัญของปัจจัยด้านเศรษฐกิจในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก คือ สิ่งที่สะท้อนถึงกำลังซื้อโดยรวมของผู้บริโภคในเศรษฐกิจนั้น ซึ่งกำลังซื้อของผู้บริโภคจะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ

ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ค่าแรงขั้นต่ำ (Minimum Wage), รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per Capita), รายได้โดยรวมของทั้งประเทศ (GDP), อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange), อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate), ระดับราคาสินค้าหรือเงินเฟ้อ (Inflation), และเสถียรภาพราคา (Price Stability)

กฎหมาย (Legal & Regulatory)

กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ (Legal & Regulatory) คือ สิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อการทำธุรกิจ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษี การจ้างงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การค้า และข้อบังคับเฉพาะอุตสาหกรรม

กล่าวคือ ปัจจัยภายนอก ในด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเป็นสิ่งที่จะชี้ว่าอะไรที่ธุรกิจทำได้ อะไรที่ธุรกิจทำไม่ได้ ระเบียบข้อบังคับอะไรทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลง

การเมือง (Political)

การเมือง (Political) คือ ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครอง เสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลมีทิศทางอย่างไร เนื่องจากมาตรการสนับสนุนหรือกีดกันมีจุดเริ่มต้นมาจากนโยบายของภาครัฐ

กล่าวคือ ปัจจัยภายนอกด้านการเมืองเป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพภายในประเทศและความเจริญก้าวหน้าของประเทศซึ่งนำไปสู่รายได้ของคนในประเทศที่มากขึ้น และเกี่ยวข้องกับผู้ที่ออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นปัจจัยภายนอกด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ (Legal & Regulatory)

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) คือ ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรทุกฝ่ายที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่น ผู้บริโภค ผู้จัดหาวัตถุดิบ บริษัทขนส่ง ผู้จัดจำหน่ายสินค้า พ่อค้าคนกลาง ผู้ถือหุ้นรายย่อย แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง

ด้วยการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่สำคัญต่อธุรกิจ แต่กลับไม่สามารถสร้างความแน่นอนให้กับธุรกิจได้ (เนื่องจากไม่สามารถควบคุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ได้ไปมากกว่าสัญญา) ทำให้หลายครั้งในธุรกิจขนาดใหญ่จึงตัดสินใจขยายการเติบโตของธุรกิจด้วยวิธีการ Merge หรือ Acquisition ธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่สามารถทำได้ เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบ บริษัทขนส่ง ผู้จัดจำหน่ายสินค้า และพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเรียกว่า Vertical Growth หรือ Vertical Integration ตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ เพื่อลดต้นทุนและความไม่นอนที่เกิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การแข่งขัน (Competition)

ปัจจัยภายนอกด้านการแข่งขัน (Competition) ในที่นี้ไม่ใช่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถของธุรกิจเอง (ซึ่งประเด็นนั้นเรียกว่า ปัจจัยภายใน : Internal Factors) แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่ธุรกิจจะต้องเผชิญ โดยอาจเรียกว่าปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับตลาด (Markets) ก็ได้

ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกด้านการแข่งขัน ธุรกิจควรทราบถึง ขนาดของตลาด ส่วนแบ่งตลาด ความรุนแรงของการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม สินค้าทดแทน จำนวนคู่แข่งภายในอุตสาหกรรม ความยากง่ายในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ลักษณะหรือประเภทของสินค้าในทางเศรษฐศาสตร์ และความต้องการของตลาด

การทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวกับการแข่งขันเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจในการระบุโอกาส วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของตลาด และพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดและการขายเพื่อการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ

สภาพแวดล้อม (Environmental)

ปัจจัยภายนอกด้านสภาพแวดล้อม (Environmental) คือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ความสะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้าของธุรกิจ

ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกด้านสภาพแวดล้อมมักจะเกี่ยวข้องกับ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ความครอบคลุมขอบโครงสร้างพื้นฐานและความสะดวก ตลอดจนข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยี (Technology)

ปัจจัยด้านเทคโนโลยี (Technology) คือ ประเด็นด้านนวัตกรรม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นได้ทั้งสิ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและขัดขวางอุตสาหกรรมได้

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ระบบการผลิตอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และต้นทุนการผลิตสินค้าเทคโนโลยีบางประเภทที่ทำให้เทคโนโลยีบางอย่างเข้าถึงง่ายขึ้น เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด