หน้าแรก » เศรษฐศาสตร์ » ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร? Policy Rate มีไว้ทำไม

ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร? Policy Rate มีไว้ทำไม

บทความโดย safesiri
ดอกเบี้ยนโยบาย คือ Policy Rate คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไทย สหรัฐ ธนาคารกลาง

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนดเพื่อใช้เป็นดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานที่สุดของระบบเศรษฐกิจ

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ของธนาคารกลางเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลาง (Central Bank) ในแต่ละประเทศจะใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการกระตุ้นการลงทุนด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ธนาคารกลางจะใช้ควบคุมดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่นำมาใช้อ้างอิง เนื่องจากเป็นต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคารที่ธนาคารกลางจะเรียกเก็บเมื่อธนาคารพาณิชย์กู้เงินจากธนาคารกลาง และในทางกลับกันจะเป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจ่ายเมื่อธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าวการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นเหมือนดอกเบี้ยขั้นต่ำของระบบเศรษฐกิจ ผ่านการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลาง (Central Bank) จึงกระทบกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ที่เรียกเก็บโดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยในการกู้ยืมเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน หรือสินเชื่อของประชาชนทั่วไปในประเทศที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป

โดยธนาคารกลางในแต่ละประเทศจะใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือกำกับดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการกระตุ้นการลงทุนด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และใช้ชะลอความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มากเกินไปด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

กล่าวคือ ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดของดอกเบี้ยในประเทศที่กำหนดโดยธนาคารกลาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังดอกเบี้ยอื่น ๆ ทั้งหมดภายในประเทศตามต้นทุนของธนาคารที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

ใครกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย

ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ของแต่ละประเทศจะถูกกำหนดโดยธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นในการประชุมของธนาคารกลางในแต่ละไตรมาส ซึ่งมีกำหนดการของแต่ละปีล่วงหน้าว่าในปีดังกล่าวจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินกี่ครั้งและเมื่อไหร่ (เว้นแต่จะมีเหตุกาณ์พิเศษที่ทำให้ต้องเรียกประชุมฉุกเฉิน)

ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

  • การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีผู้ดูแล คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอยู่ในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมกำหนดนโยบายการเงินปีละ 6 ครั้ง (ตารางการประชุม กนง.) ซึ่งสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (bot.or.th) และจะมีการประกาศออกมาหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในหน้าเอกสารเผยแพร่คณะกรรมการนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะถูกกำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศอย่างเป็นอิสระ แต่ในทางปฏิบัติอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกต่างเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งมักจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ตัวอย่างเช่น การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เมื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งจะส่งผลให้การบริโภคในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น นำไปสู่ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ตลอดจนทุกประเทศที่อยู่ใน Supply Chain ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จะเห็นว่าในกรณีในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศมักจะประสบภาวะเศรษฐกิจที่คล้ายคลึง

ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกัน ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมักจะติดตามและให้ความสนใจกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา (Fed Fund Rate) ที่ส่งผลกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งกำกับดูแลโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) ภายใต้สังกัดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System หรือ Fed) โดยจะมีการประชุมนโยบายการเงินของคณะกรรมการ FOMC ปีละ 8 ครั้ง (ตารางการประชุม FOMC ของ Fed)

ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร

การเพิ่มหรือการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชนและการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคจากการมีงานและมีเงินที่จะจ่าย ในสภาะเศรษฐกิจแบบนี้จะทำให้ความกล้าที่จะลงทุนของภาคเอกชนมากกว่าช่วงปกติ เนื่องจากตลาดเต็มไปด้วยความต้องการซื้อและกำลังซื้อ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเศรษฐกิจกำลังอย่างเติบโตอย่างร้อนแรง จะนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น (รวมถึงการเก็งกำไรจนเกินความต้องการซื้อ) ซึ่งจะทำให้ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ตลอดจนราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นเกินความเหมาะสมจากการที่มีปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ที่เรียกว่า ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งดอกเบี้ยในการกู้และดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือการลงทุนที่อ้างอิงดอกเบี้ย อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้

โดยผลตอบแทนจากการลงทุนความเสี่ยงต่ำที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้เงินลงทุนไหลออกจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงกว่าแต่ให้ผลตอบแทนเท่ากันไปหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเหล่านั้นเพื่อพักเงินเอาไว้แทนที่จะนำไปใช้ในการลงทุนหรือใช้จ่าย ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจะชะลอการลงทุนของภาคเอกชนจากต้นทุนดอกเบี้ยในการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น

กล่าวคือ เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แนวโน้มที่ภาคเอกชนจะกู้เงินมาเพื่อขยายธุรกิจอย่างเกินความจำเป็นจะลดลง ในขณะที่ผู้บริโภคก็จะลดการใช้จ่ายที่เป็นการก่อหนี้ลงด้วยเช่นกัน ในขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็จะกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้ามาพักอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเหล่านี้แทน

ลดดอกเบี้ยนโยบาย มีผลอย่างไร

การลดดอกเบี้ยนโยบาย คือ นโยบายทางการเงินที่จะใช้เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงซบเซาที่คนไม่ค่อยใช้เงิน (เนื่องจากไม่มีเงิน) และธุรกิจไม่กล้าลงทุนซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่คนไม่ค่อยอยากจับจ่ายใช้สอย (ไม่มีคนซื้อ) ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา

กล่าวคือ การลดดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนและจับจ่ายใช้สอยต่ำลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการใช้เงินมากขึ้น เมื่อเกิดการใช้เงินที่มากขึ้นก็จะทำให้เศรษฐกิจที่ซบเซามีเงินเข้ามาหมุนเวียนมากขึ้น

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้หลักทรัพย์ที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับดอกเบี้ยนโยบาย อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ เงินฝาก และตราสารหนี้ได้รับผลตอบแทนน้อยลงตามกลไกดอกเบี้ย ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนเท่าเดิมก็จะต้องย้ายไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่ความเสี่ยงสูงกว่าแทนที่จะเก็บเงินเอาไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อชดเชยผลตอบแทนลดลง ซึ่งเรียกว่าพฤติกรรม Search for Yield

ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยนนโยบายที่ลดลงจะลดแรงจูงใจของคนทั่วไปในการออมเงิน และอาจทำให้นำเงินเหล่านั้นมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่การลดดอกเบี้ยนโยบายส่งผล คือ การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และในทางตรงกันข้ามถ้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีแนวโน้มชะลอลงตามที่ได้อธิบายในหัวข้อก่อนหน้านี้

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ การไม่เพิ่มและไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) เป็นการจัดการดอกเบี้ยนโยบายที่พบได้บ่อยกว่าการ ลดดอกเบี้ยนโยบายหรือเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย

โดยเหตุผลที่ทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เอาไว้เท่าเดิมมาจากการที่สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่น่าพอใจ หรือไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินใน 2 กรณีด้านบน หรืออยู่ในจุดที่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก็ไม่มีผล

ดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกับอะไรบ้าง

ต้นทุนของเงินคือดอกเบี้ย (Interest) หากธนาคารยืมเงิน 100 บาทเพื่อนำไปลงทุนด้วยดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ดังนั้น ในการลงทุนของธนาคารอย่างการปล่อยกู้ ไม่ว่าจะ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ธนาคารก็จะต้องได้ผลตอบแทนมากกว่า 1% เพื่อสร้างกำไร เมื่อต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็จะทำให้ผลตอบที่ต้องการของธนาคารเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ดังนั้น อันดับแรกสุดที่ดอกเบี้ยนโยบายจะกระทบ คือ ทุกดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร (ทั้งดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย) การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ดอกเบี้ยอื่น ๆ เพิ่มหรือลดในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคล เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน ดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์
  • ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อธุรกิจ
  • ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุน
  • ดอกเบี้ยผลตอบแทนของตราสารหนี้อื่น เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นและลดลงของดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลกระทบในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ยโดยตรงด้วย ได้แก่

การเปลี่ยนแปลงของระดับเงินเฟ้อ (Inflation) ภายในประเทศ จากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาของสินค้า จากต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มหรือลดลงจากดอกเบี้ยที่ทำให้สินค้าแพงขึ้นหรือถูกลง ตลอดจนปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น (เมื่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย) หรือลดลง (เมื่อลดดอกเบี้ยนโยบาย)

ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ Fund Flow (เงินลงทุนจากต่างชาติ) เข้ามาลงทุนในประเทศนั้นมากขึ้นตามผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น และในทางกลับกันการลดดอกเบี้ยนโยบายก็จะทำให้ Fund Flow ไหลออกไปหาประเทศที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ซึ่งการที่มีเงินทุนไหลเข้าหรือออกประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการเงินสกุลนั้นเปลี่ยนแปลง ทำให้การเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยสามารถส่งผลไปถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศซึ่งทำให้เงินแข็งและเงินอ่อน

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด